บทคัดย่องานวิจัย

การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและคุณภาพของเนื้อสุกทุเรียนพันธุ์จันทบุรี 1 และหมอนทอง

จิรัฐิติกาล บุณธนากร วิชชุดา เดาด์ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ พนิดา บุญฤทธิ์ธงไชย ชูชาติ วัฒนวรรณ และ เฉลิมชัย วงษ์อารี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 49(4) (พิเศษ): 26-29.

2561

บทคัดย่อ

ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้มีการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ภายใต้ชื่อ ‘จันทบุรี’ โดยพันธุ์จันทบุรี 1 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นคือ เนื้อสุกมีกลิ่นอ่อน งานวิจัยนี้จึงศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านสรีรวิทยาของเนื้อทุเรียนสุกพร้อมเมล็ดโดยเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์จันทบุรี 1 และพันธุ์ที่นิยมส่งออกคือพันธุ์หมอนทอง โดยเก็บรักษาเนื้อทุเรียนสุกที่อุณหภูมิ 4, 10 (90-95 %RH) และ 25 องศาเซลเซียส (60-70 %RH) พบว่าเนื้อทุเรียนสุกมีอัตราการหายใจและการผลิต  เอทิลีนสูงขึ้นตามอุณหภูมิในการเก็บรักษาที่เพิ่มขึ้น ที่ 25 องศาเซลเซียส เนื้อหมอนทองสุกมีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนเฉลี่ย 169.03±58.88 mg. CO2/kg.hr และ 23.00±5.78 µl C2H4/kg.hr ส่วนจันทบุรี 1 มีค่าเฉลี่ย 195.72±124.45 mg. CO2/kg.hr และ 27.80±12.43 µl C2H4/kg.hr ตามลำดับ ในขณะที่ 4 และ 10 องศาเซลเซียส ทั้ง 2 พันธุ์ มีอัตราการหายใจและอัตราการผลิตเอทิลีนอยู่ในช่วง 20-50 mg. CO2/kg.hr และ 10-30 µl C2H4/kg.hr ส่วนด้านค่าสีเนื้อ, ค่าความแน่นเนื้อและของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมดของเนื้อทุเรียนทั้งสองสายพันธุ์พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) นอกจากนี้พบว่าในเนื้อหมอนทองสุกพบสารประกอบซัลเฟอร์ชนิด Ethanethiol ที่ให้กลิ่นที่รุนแรง แต่ในพันธุ์จันทบุรี 1 ไม่พบสารประกอบชนิดนี้