บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากพืชบางชนิดต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Fusarium semitectum สาเหตุโรคเมล็ดด่างของข้าว

ศานิต สวัสดิกาญจน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 46 (3/1 พิเศษ): 375-378. 2558.

2558

บทคัดย่อ

การยับยั้งการเจริญของเชื้อราของสารสกัดหยาบด้วยเอทานอลจากพืช 12 ชนิด คือ ผักแครด (Synedrella nodiflora) ธูปฤาษี (Typha angustifolia) สาบเสือ (Eupatorium odoratum) ข้าวฟ่าง (Sorghum bicolor) หญ้าดอกขาว (Leptochloa chinensis) คำฝอย (Cathamus tinctorius) พริก (Capsicum frutescens) กระเทียม (Allium sativum)  หอมแดง (A. ascolonicum) พลู (Piper betle) ตะไคร้ (Cymbopogon citratus)  และตะไคร้หอม (C. nardus) ที่มีผลต่อการยับยั้งการเจริญของเส้นใยและการงอกของสปอร์ของเชื้อรา Fusarium semitectum สาเหตุโรคเมล็ดด่างของข้าว ด้วยวิธี poisonous food technique ที่ระดับความเข้มข้น 0, 1,000 2,500 5,000 7,500 และ 10,000 ppm  พบว่า สารสกัดจากพลู ความเข้มข้น 2,500 ppm และสารสกัดจากตะไคร้หอม ความเข้มข้น 10,000 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้ 100% ส่วนสารสกัดจากข้าวฟ่างและธูปฤาษี ความเข้มข้น 10,000 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้ 31 และ 39% ตามลำดับ สำหรับการทดสอบการยับยั้งการงอกของสปอร์ พบว่า สารสกัดจากพลูและตะไคร้หอม ความเข้มข้น 1,000 ppm สารสกัดจากผักแครด คำฝอย พริก กระเทียม และหอมแดง ความเข้มข้น 2,500 ppm สารสกัดจากธูปฤาษี สาบเสือ และตะไคร้ ความเข้มข้น 10,000 ppm สามารถยับยั้งสามารถยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ 100% ส่วนสารสกัดจากข้าวฟ่างและหญ้าดอกขาว ความเข้มข้น 10,000 ppm สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์ได้ 0  และ 20% ตามลำดับ สำหรับสารสกัดจากพืชที่มีศักยภาพสูงในการควบคุมเชื้อ F. semitectum มี 2 ชนิด คือ สารสกัดจากพลูและตะไคร้หอม ความเข้มข้น 1,000 ppm