บทคัดย่องานวิจัย

เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์จากการเตรียมพร้อมเมล็ดด้วยวิธีต่างๆ

อุมาพร ปางชาติ ปิติพงษ์ โตบันลือภพ ปิ่นปินัทธ์ จันทร์แหง และกัลทรี มากเจริญ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 173-176. 2557.

2557

บทคัดย่อ

เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์จากการเตรียมพร้อมเมล็ดด้วยวิธีต่างๆ

การศึกษาทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบเทคนิคการเตรียมเมล็ดด้วยการควบคุมการดูดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ จำนวน 4ซ้ำ มีกรรมวิธีการทดลองทั้งหมด 9 กรรมวิธีคือกรรมวิธีที่ 1ไม่ผ่านการเตรียมพร้อมเมล็ด (ชุดควบคุม) กรรมวิธีที่ 2-9 ผ่านการเตรียมพร้อมเมล็ดด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้ กรรมวิธีที่ 2 และ 3แช่เมล็ดในน้ำกลั่นนาน 14 และ 16 ชั่วโมง กรรมวิธีที่ 4 และ 5กับ 6 และ 7 ควบคุมแรงดันออสโมซิสที่ -0.75 MPaนาน 12และ 16 ชั่วโมง กับ ควบคุมแรงดันออสโมซิสที่ -1.50 MPaนาน 12 และ 16 ชั่วโมง ตามลำดับ กรรมวิธีที่ 8 และ 9 แช่เมล็ดในสารละลายโปแตสเซียมไนเทรต (KNO3) ความเข้มข้น 0.25 และ 0.50 เปอร์เซ็นต์ นาน 8 ชั่วโมงผลการทดลองพบว่า การเตรียมพร้อมเมล็ดไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความงอกของเมล็ดพันธุ์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีความงอก พบว่า กรรมวิธีการทดลองที่ 8, 9, 6, และ 4มีค่าดัชนีความงอกสูง (45, 44.25, 44, และ 43.75 ตามลำดับ) ค่าเวลาการงอกเฉลี่ย (mean emergence time, MET) ของกรรมวิธีการทดลองที่ 8, 9, 4, 6, และ 5 มีค่าต่ำ (1.07, 1.1, 1.11, 1,13 และ 1.16 วัน ตามลำดับ) ดังนั้นเทคนิคการเตรียมพร้อมเมล็ดด้วยการควบคุมแรงดันออสโมซิสของสารละลายที่ระดับ-0.75 MPaหรือ -1.50 MPaเป็นเวลา 12ชั่วโมง หรือการเตรียมพร้อมเมล็ดด้วย KNO3ที่ระดับความเข้มข้น 0.25% หรือ 0.50% เป็นเวลา 8 ชั่วโมง สามารถเพิ่มความเร็วในการงอกของเมล็ดพันธุ์ข้าวบาร์เลย์ และไม่ส่งผลกระทบต่อความงอกของเมล็ดพันธุ์