บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชบางชนิดในการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. Citri สาเหตุโรคแคงเกอร์ในพืชตระกลูส้ม

สิริวรรณ สมิทธิอาภรณ์ และ ฐานันดร วิริยะเกียรติ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 169-172. 2557.

2557

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชบางชนิดในการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. Citri สาเหตุโรคแคงเกอร์ในพืชตระกลูส้ม

การทดสอบสารสกัดหยาบด้วยเอทานอล 95 %จากพืช 10ชนิด ได้แก่ เปลือกทุเรียน (Durian,Durio zibethinus)       ใบฝรั่ง (Guava,Psidium guajava) เปลือกกล้วย (Banana, Musa ABB cv. Kluai 'Namwa') เปลือกทับทิม (Pomegranate,Punica granatum) เปลือกส้ม (Tangerine,Citrus reticulata Blanco cv. ‘Khieo Wann’) เปลือกมังคุด (Mangosteen,Garcinia mangostana) กานพลู (Clove,Syzygium aromaticum) กระเทียม (Garlic,Allium sativum ) สะเดา (Siamese neem, Azadirachta indica var. siamensis) และใบยอ (Indian Mulberry, Morinda citrifolia) ในการยับยั้ง การเจริญของเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas axonopodis pv. citri(Xac-Hys)สาเหตุโรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม ด้วยวิธี paper disc diffusion methodพบว่า ที่ระดับความเข้มข้น 10,000 ppm พบสารสกัดจากพืช       4 ชนิด ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย (Xac-Hys)ได้แก่ สารสกัดจาก ใบฝรั่ง เปลือกทับทิม เปลือกมังคุด และ กานพลู เมื่อทำการทดสอบที่ระดับความเข้มข้นสูงขึ้นที่ 25,000 ppm พบว่าสารสกัดจากเปลือกมังคุด มีประสิทธิภาพสูงสุดในการยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย (Xac-Hys) โดยมีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของพื้นที่การยับยั้ง เท่ากับ 1.23 เซนติเมตร รองลงมาคือสารสกัดจากใบฝรั่ง กานพลู และ เปลือกทับทิม มีค่าเฉลี่ยเส้นผ่านศูนย์กลางของพื้นที่การยับยั้ง เท่ากับ 1.13, 0.93 และ 0.85 เซนติเมตร ตามลำดับ เมื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชทั้ง 4ชนิด ในการปลูกเชื้อโรคแคงเกอร์ลงบนใบมะกรูด ด้วยวิธี detached leaf methodพบว่าสารสกัดจากใบฝรั่ง เปลือกมังคุด เปลือกทับทิม และ กานพลู ที่ระดับความเข้มข้น 25,000, 35,000, 50,000 และ 50,000 ppm ตามลำดับ มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคแคงเกอร์ได้ โดยทำให้เกิดอาการแผลจุดตายตรงบริเวณที่ทำการปลูกเชื้อแบคทีเรีย (Xac-Hys)รวมถึงมีผลในการยับยั้งการพัฒนาอาการของโรคแคงเกอร์บนใบมะกรูด