บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารสกัดหยาบเมทานอลจากตะไคร้และมะขามต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Lasiodiplodia theobromae และ Colletotrichum gloeosporioides จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

เนตรนภิส เขียวขำ เนตรณพิศ นาคอ่วมค้า บงกช นิลกาญจน์ และ สมศิริ แสงโชติ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 73-76. 2557.

2557

บทคัดย่อ

ผลของสารสกัดหยาบเมทานอลจากตะไคร้และมะขามต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Lasiodiplodia theobromae และ Colletotrichum gloeosporioides จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหยาบเมทานอลจากใบและต้นตะไคร้ (Cymbopogon citratus)มะขามเปียกและใบมะขาม (Tamarindus indica) ในการยับยั้งเชื้อรา  Lasiodiplodia theobromaeสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคขั้วผลเน่าของมะม่วง และเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแอนแทรคโนส โดยแยกเชื้อราได้จากมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ด้วยวิธี tissue transplanting ทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราด้วยสารสกัดหยาบด้วยเมทานอล โดยใช้ส่วนใบ ลำต้นและกาบใบของตะไคร้ และส่วนใบและเนื้อมะขาม (มะขามเปียก) ทดสอบด้วยวิธี poison food บนอาหาร PDA ความเข้มข้น 50,000 10,000 และ 1,000 ppm  หลังจากเลี้ยงเชื้อรา L. theobromaeเป็นเวลา 3 วัน และเลี้ยงเชื้อรา C. gloeosporioidesเป็นเวลา 7 วัน พบว่าสารสกัดหยาบจากใบตะไคร้ที่ความเข้มข้น 50,000 ppm มีประสิทธิภาพสูงสุดในยับยั้งการเจริญของเส้นใยของเชื้อราทั้งสองชนิด ได้ร้อยละ 80.78 และ 79.24 ตามลำดับ และไม่มีสารสกัดหยาบชนิดใดที่สามารถยับยั้งการงอกของสปอร์เชื้อราL. theobromaeได้ สารสกัดจากใบตะไคร้แสดงคุณสมบัติยับยั้งการงอกของสปอร์C. gloeosporioides  ความเข้มข้น 106โคนิเดียต่อมิลลิลิตร มีค่า minimum inhibitory concentration (MIC) ที่ความเข้มข้น 166.67 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร หลังจากบ่มไว้ 24 ชั่วโมง