บทคัดย่องานวิจัย

การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ TiO2 ที่เคลือบบนตัวกลางชนิดต่างๆร่วมกับปฏิกิริยาที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งในการสลายสารฆ่าแมลงคลอไพริฟอส

ธฤต ศรีวิชัย Nakao Nomura จำนงค์ อุทัยบุตร และ กานดา หวังชัย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 45 (3/1 พิเศษ): 29-32. 2557.

2557

บทคัดย่อ

การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ TiO2 ที่เคลือบบนตัวกลางชนิดต่างๆร่วมกับปฏิกิริยาที่ใช้แสงเป็นตัวเร่งในการสลายสารฆ่าแมลงคลอไพริฟอส

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ TiO2 ที่เคลือบบนตัวกลางที่แตกต่างกันและปฏิกิริยาที่ใช้แสงเป็นตัวเร่ง ในการลดสารตกค้างสารฆ่าแมลงคลอไพริฟอสซึ่งเป็นสารกลุ่มออแกโนฟอสเฟต และใช้กันอย่างกว้างขวางในผักและผลไม้ โดยนำตัวกลาง 3ชนิดคือ ลูกแก้วขนาด 1 ซม. กระจกสไลด์ขนาด 2.5x7.5 ซม. และเม็ดแก้วขนาด 1มม. มาจุ่มในสารละลาย TiO2แบบอนุภาคนาโน ความเข้มข้น 1% แล้วนำมาทดสอบกับสารละลายคลอไพริฟอสมาตรฐานความเข้มข้น 1 mg.L-1 เป็นเวลา 15, 30, 45 และ 60 นาที ภายใต้ปฏิกิริยาที่ใช้แสงเป็นตัวเร่ง หลังจากนั้นสุ่มตัวอย่างมาคำนวณหาความเข้มข้นและเปอร์เซ็นต์การลดลงของสารคลอไพริฟอส ผลการทดลองพบว่า TiO2ที่เคลือบบนเม็ดแก้วสามารถลดสารคลอไพริฟอสได้ดีที่สุด มีค่าเท่ากับ 5.4 ppm ซึ่งสอดคล้องกับค่าการปลดปล่อยไอโอดีนที่เพิ่มขึ้น รองลงมาคือ TiO2ที่เคลือบบนกระจกสไลด์และ TiO2 ที่เคลือบบนลูกแก้วมีค่าเท่ากับ 5.7 ppm และ 6.0 ppm ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุมนี้มีค่าเท่ากับ 10.1 ppm เมื่อคิดเป็นค่าเปอร์เซ็นต์การลดลงพบว่า TiO2ที่เคลือบบนเม็ดแก้วทำให้ความเข้มข้นของคลอไพริฟอสลดลง 42% เมื่อเทียบกับชุดควบคุมที่ลดลงเท่ากับ 12% นอกจากนี้ได้ศึกษาสมบัติทางกายภาพของ TiO2 ที่เคลือบบนตัวกลางแบบเม็ดแก้ว โดยวิเคราะห์ด้วยวิธี X-Ray diffraction (XRD)และBrunauere emmett teller (BET)ดังนั้นวิธีการนี้มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ลดปัญหาสารพิษตกค้างในผักหลังการเก็บเกี่ยวได้