บทคัดย่องานวิจัย

คุณสมบัติไดอิเล็กทริกข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวใหม่พันธุ์ปทุมธานี 1 และพันธุ์สันป่าตอง 1

นุชจารี มงคล แสงทิวา สุริยงค์ ณัฐศักดิ์ กฤติกาเมษ สงวนศักดิ์ ธนาพรพูนพงษ์ Dieter von Hoerstenและสุชาดา เวียรศิลป์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 378-381. 2556.

2556

บทคัดย่อ

คุณสมบัติไดอิเล็กทริกข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวใหม่พันธุ์ปทุมธานี 1 และพันธุ์สันป่าตอง 1

คุณสมบัติไดอิเล็กทริกของวัสดุเป็นปัจจัยหลักของประสิทธิภาพการลดความชื้นด้วยเทคนิคคลื่นความถี่วิทยุ การทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดค่าการสะสมพลังงานไฟฟ้า (Dielectric constant) และค่าการปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้า (Loss factor)ของเมล็ดข้าวเปลือกเก็บเกี่ยวใหม่ 2 พันธุ์คือ ข้าวจ้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง 1โดยนำเมล็ดข้าวเปลือกเก็บเกี่ยวใหม่ที่มีความชื้น 26% มาตรฐานเปียก มาวัดคุณสมบัติไดอิเล็กทริก ด้วยเครื่องวิเคราะห์อิมพีแดนซ์ความแม่นยำสูงช่วงความถี่1-50 MHzที่ระยะห่าง 1.50 ซม. วางแผนการทดลองแบบ Completely randomized design(CRD) จำนวน 4 ซ้ำ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ความแปรปรวนและเปรียบเทียบความแตกต่างโดยวิธี Least significant difference (LSD) ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%ผลการทดลองพบว่าค่าการสะสมพลังงานไฟฟ้า ค่าการปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้า และค่ามุมสัมผัสการสูญเสีย (loss tangent)ของเมล็ดข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 และพันธุ์สันป่าตอง 1 มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยมีค่าการสะสมพลังงานไฟฟ้าของเมล็ดข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 (2.24-3.44±0.03) สูงกว่าพันธุ์สันป่าตอง 1 (1.96-2.85±0.02) 19% มีค่าการปลดปล่อยพลังงานไฟฟ้าของเมล็ดข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 (1.27-6.44±0.21) สูงกว่าพันธุ์สันป่าตอง 1 (0.94-4.17±0.13) 35% และมีค่ามุมสัมผัสการสูญเสีย ของเมล็ดข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 (0.39-2.57±0.08) สูงกว่าพันธุ์สันป่าตอง 1 (0.37-2.01±0.06) 21% โดยเมล็ดข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1ที่คลื่นความถี่ 46 MHzและเมล็ดข้าวพันธุ์สันป่าตอง 1 ที่คลื่นความถี่ 47 MHzมีค่ามุมสัมผัสการสูญเสียสูงสุด ดังนั้น คลื่นความถี่ที่ 46 MHzและคลื่นความถี่ที่47 MHzมีการใช้พลังงานต่ำสุดและเกิดความร้อนสูงสุด กับพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 และพันธุ์ข้าวสันป่าตอง1ตามลำดับ