บทคัดย่องานวิจัย

การอบแห้งข้าวเปลือกงอกด้วยลมร้อนแบบฟลูอิไดซ์เบดร่วมกับหลอดฮาโลเจน

นฤบดี ศรีสังข์ ปัญญา แดงวิไลลักษณ์ ธีรศักดิ์ ดาวทอง มนัส บุญศรี และอนุชา สาเสน

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 454-457. 2556.

2556

บทคัดย่อ

การอบแห้งข้าวเปลือกงอกด้วยลมร้อนแบบฟลูอิไดซ์เบดร่วมกับหลอดฮาโลเจน

ในปัจจุบันการอบแห้งข้าวเปลือกงอกใช้วิธีการอบแห้งด้วยตู้อบแบบลมร้อน ซึ่งใช้เวลานานในการอบแห้ง ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงนำเทคนิคการอบแห้งด้วยฟลูอิไดซ์เบดแบบลมร้อน (HA)ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถลดความชื้นได้อย่างรวดเร็วมาใช้อบแห้งร่วมกับเทคนิคการอบแห้งด้วยหลอดฮาโลเจน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาจลนศาสตร์การอบแห้งข้าวเปลือกงอกด้วยเทคนิคฟลูอิไดซ์เบดแบบลมร้อนร่วมกับหลอดฮาโลเจน (HH)และประเมินคุณภาพของข้าวเปลือกงอกหลังการอบแห้ง ได้แก่ เปอร์เซ็นต์ต้นข้าว เปอร์เซ็นต์ข้าวหัก สีของเมล็ดข้าว และปริมาณสารกาบา ในการทดลองใช้ข้าวเปลือกงอกพันธุ์สุพรรณ 60 มีความชื้นเริ่มต้น 36% (d.b.) และความชื้นสุดท้ายที่ต้องการ คือ 22% (d.b.)โดยใช้อุณหภูมิอบแห้ง 110 120 และ 130°C ผลการทดลองพบว่า ที่ความสูงเบด 20 cm ใช้ความเร็วของอากาศร้อนเท่ากับ 4.8 m/s ซึ่งเป็นความเร็วที่สูงกว่าความเร็วต่ำสุดในการเกิดฟลูอิไดเซชัน (4.5 m/s) การอบแห้งแบบ HAมีการลดลงของความชื้นช้ากว่าการอบแห้งแบบ HH ในทุกๆ ช่วงอุณหภูมิอบแห้ง การอบแห้งแบบ HH ที่อุณหภูมิ 130°Cใช้เวลาการอบแห้งสั้นที่สุดเท่ากับ 2 นาที  เปอร์เซ็นต์ต้นข้าว เปอร์เซ็นต์ข้าวหัก และสีของเมล็ดข้าว (ค่า L a และ b) ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญสำหรับการอบแห้งแบบ HA และ HHยกเว้น ค่าเปอร์เซ็นต์ข้าวหักและค่า b ที่การอบแห้งแบบ HA และที่อุณหภูมิอบแห้ง 110 และ 120°Cตามลำดับ สีของข้าวเมล็ดข้าวหลังการอบแห้งแบบ HA และ HH แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับสีของเมล็ดข้าวที่วางจำหน่าย ยกเว้นค่า b ปริมาณสารกาบาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการงอก และไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหลังการอบแห้งแบบ HA และ HH