บทคัดย่องานวิจัย

ผลของระยะการเจริญเติบโตต่อคุณภาพของถั่วลันเตางอก (โต้วเหมียว)

กษิเดช ฉันทกุล อัญชลี ศิริโชติ และ ดุสิดา ถิระวัฒน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 44 (3พิเศษ): 208-212. 2556.

2556

บทคัดย่อ

ผลของระยะการเจริญเติบโตต่อคุณภาพของถั่วลันเตางอก (โต้วเหมียว)

การศึกษาผลของระยะการเจริญเติบโตหลังการงอก เป็นจำนวน 7 8 และ 9 วัน ของถั่วลันเตางอกที่มีต่อคุณภาพ พบว่า เมื่อระยะการเจริญเติบโตหลังการงอกเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ย (n=30) ของค่าน้ำหนักสดต่อต้น เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น และค่าความยาวลำต้นจากรอยตัดเหนือเมล็ด (~1.0 cm) ถึงปลายยอด มีค่าเพิ่มขึ้น (p<0.05) เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณเยื่อใย (p<0.05) และปริมาณลิกนินโดยมีค่าเท่ากับ 53.70±0.89 และ 14.70±0.95, 53.93±1.01และ 15.03±0.79 และ 54.58±1.03 และ 15.97±0.79 %(DW) ตามลำดับ ค่าแรงตัดโดยเครื่องวัด ( 5 ต้นต่อครั้ง) มีค่าเพิ่มขึ้น (p<0.05) ตามระยะการเจริญเติบโตหลังการงอกที่เพิ่มขึ้นโดยมีค่าเท่ากับ 28.07±0.61, 32.37±0.99 และ 37.33±0.67 N ตามลำดับ ปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมด คลอโรฟิลล์เอ และคลอโรฟิลล์บี มีค่าเพิ่มขึ้น (p<0.05) ส่วนค่าสีความเป็นสีเขียว (a*) มีค่าเพิ่มขึ้น และค่าความเป็นสีเหลือง (b*) มีค่าลดลง (p<0.05) ถั่วลันเตางอกที่ระยะเวลา 7 8 และ 9 วัน หลังการงอกมีค่าสี a* และ b*เท่ากับ -4.10±0.47 และ 21.33±2.54, -5.15±1.54 และ 18.34±2.04 และ -8.44±1.32 และ 17.09±1.96 ตามลำดับ นอกจากนี้ ถั่วลันเตางอกแต่ละชุดการทดลองภายหลังการเก็บเกี่ยวเมื่อนำมาทดสอบทางประสาทสัมผัสด้วยวิธีพรรณนาเชิงปริมาณพบว่า ผู้ทดสอบให้ผลการประเมินในคุณลักษณะความมีกากใยเมื่อรับประทาน และค่าสี (ความเป็นสีเหลืองถึงความเป็นสีเขียว) ของถั่วลันเตางอกมีค่าเพิ่มขึ้น (p<0.05) ตามระยะการเจริญเติบโตหลังการงอกที่เพิ่มขึ้น งานวิจัยนี้ พบว่า การวิเคราะห์ปริมาณเยื่อใย การตรวจวัดค่าแรงตัด และการประเมินทางประสาทสัมผัสในคุณลักษณะความมีกากใยขณะรับประทานสามารถใช้บ่งบอกความแตกต่างของคุณภาพถั่วลันเตางอกที่ระยะการเจริญเติบโตที่ต่างกันได้