บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของเทคนิคและเงื่อนไขการอบแห้งที่มีต่อจลนพลศาสตร์การอบแห้งและคุณภาพของกระเทียมสับ

รติยา ธุวพาณิชยานันท์ และ สมเกียรติ ปรัชญาวรากร

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 605-608. 2554.

2554

บทคัดย่อ

อิทธิพลของเทคนิคและเงื่อนไขการอบแห้งที่มีต่อจลนพลศาสตร์การอบแห้งและคุณภาพของกระเทียมสับ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของเทคนิคการอบแห้ง อุณหภูมิที่ใช้ในการอบแห้ง และความเข้มของการแผ่รังสีอินฟราเรดไกลที่มีผลต่อระยะเวลาในการอบแห้ง ปริมาณสารอัลลิซิน ปริมาณน้ำมันหอมระเหย และสีของกระเทียมอบแห้ง ซึ่งเตรียมผลิตภัณฑ์ก่อนนำไปอบแห้งโดยสับเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 2 mm3  สำหรับการอบแห้งด้วยอากาศร้อนจะอบแห้งที่อุณหภูมิ 50, 60 และ 70°C ส่วนการอบแห้งด้วยปั๊มความร้อนจะอบแห้งที่อุณหภูมิ 50°Cเท่านั้น และกำลังไฟฟ้าที่ให้แก่หลอดรังสีอินฟราเรดไกลคือ 250, 350 และ 450 W เมื่ออบแห้งด้วยปั๊มความร้อนร่วมกับการแผ่รังสีอินฟราเรดไกล จากผลการทดลองพบว่า เมื่ออบแห้งที่อุณหภูมิหรือความเข้มของการแผ่รังสีอินฟราเรดไกลสูงขึ้น จะใช้ระยะเวลาในการอบแห้งสั้นลง แต่การอบแห้งที่อุณหภูมิหรือความเข้มของการแผ่รังสีอินฟราเรดไกลสูง จะให้ผลิตภัณฑ์ที่มีสีเข้มกว่า ดังจะเห็นได้จากค่า a และ b ที่มีค่าสูงกว่า ส่วนค่า Lและ ohมีค่าต่ำกว่าการอบแห้งที่อุณหภูมิหรือความเข้มของการแผ่รังสีอินฟราเรดไกลต่ำ ส่วนการอบแห้งด้วยอากาศร้อนและปั๊มความร้อนที่อุณหภูมิ 50°Cจะสามารถรักษาปริมาณสารอัลลิซินเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำมันหอมระเหยในกระเทียมที่อบแห้งด้วยเทคนิคและเงื่อนไขการอบแห้งแตกต่างกัน มีค่าไม่ต่างกัน