บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการอบแห้งแบบสูบความร้อนต่อฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพของใบมะรุม

ละมุล วิเศษ และ ณัฐพล ภูมิสะอาด

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 545-548. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของการอบแห้งแบบสูบความร้อนต่อฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพของใบมะรุม

ปัจจุบันการรักษาโรคด้วยสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายสำหรับคนรักสุขภาพ มะรุมเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงพร้อมด้วยสรรพคุณทางยา ใบมะรุมประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลายชนิด วิธีการทำแห้งสามารถส่งผลต่อองค์ประกอบเหล่านี้ได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของสภาวะการอบแห้งที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณสารประกอบฟีนอลและสารฟลาโวนอยด์ในใบมะรุมอบแห้ง โดยทำการอบแห้งใบมะรุมด้วยสูบความร้อนที่อุณหภูมิ 40 50 และ 60 องศาเซลเซียส โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนและอากาศ    เป็นตัวกลาง จนกระทั่งมีความชื้นร้อยละ 7-8 มาตรฐานแห้ง จากนั้นนำตัวอย่างมาวิเคราะห์ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ สารประกอบฟีนอลและสารฟลาโวนอยด์ ผลการทดลองพบว่าสารประกอบฟีนอลและสารฟลาโวนอยด์มีค่าสูงสุดที่อุณหภูมิ 40องศาเซลเซียส ในทุกตัวกลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) อย่างไรก็ตามการอบแห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส     ทำให้ตัวอย่างมีค่าฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดในทุกตัวกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p≤0.05) เมื่อพิจารณาคุณสมบัติในด้านการเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ การอบแห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ภายใต้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ตัวอย่างมีค่าฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดแต่สารประกอบฟีนอลและสารฟลาโวนอยด์มีปริมาณต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับมะรุมแคปซูลและการผึ่งในร่ม พบว่าการอบแห้งแบบสูบความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส ภายใต้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีค่าต่อฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p≤0.05)