บทคัดย่องานวิจัย

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้าน 3 ชนิด

นกน้อย ชูคงคา ธัญวรัตน์ พานแก้ว ณกัญญา พลเสน และ ทรงศิลป์ พจน์ชนะชัย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 339-342. 2554.

2554

บทคัดย่อ

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้าน 3 ชนิด

การวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของผักพื้นบ้าน 3 ชนิด คือ สะเดา แขยง และชะครามพบว่า สะเดามีปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ คลอโรฟิลล์ทั้งหมดและวิตามินซีมากที่สุด (6.94, 10.08 และ 29.20 mg/100 g FW ตามลำดับ) รองลงมาคือ แขยงและชะคราม ส่วนปริมาณคลอโรฟิลล์ บี พบมากที่สุดในชะคราม (5.88mg/100 gFW)  รองลงมาคือ แขยงและสะเดา  แต่สะเดามีปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมด (208.18 mg/100 g FW) มากที่สุด ขณะที่แขยงมีปริมาณแคโรทีนอยด์ (0.71 mg/100 g FW) สูงกว่าสะเดา (0.62mg/100 g FW) และชะคราม (0.44 mg/100   g FW) เมื่อวิเคราะห์ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH (1,1-Diphenyl-2-picrylhydrazyl) พบว่า แขยงมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ (78.26%)สูงที่สุด เนื่องจากแขยงมีปริมาณสารประกอบฟีนอลน้อย แต่มีวิตามินซีและคลอโรฟิลล์ค่อนข้างมากซึ่งตอบสนองต่อการวิเคราะห์ด้วยวิธี DPPHได้ดี ขณะที่สะเดามีปริมาณวิตามินซีและคลอโรฟิลล์ทั้งหมดสูงแต่มีปริมาณสารประกอบฟีนอลมาก จึงทำให้มีค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่ตรวจวัดด้วยวิธีนี้ต่ำ ดังนั้นจากผลการทดลองอาจกล่าวได้ว่า ทั้งแขยงและสะเดามีศักยภาพสูงในการเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และน่าจะสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ