บทคัดย่องานวิจัย

สหสัมพันธ์ของคุณภาพผลระหว่างคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของชมพู่พันธุ์ ทับทิมจันทร์

สุทิน พรหมโชติ และจินตนา แก้วนิล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 335-338. 2554.

2554

บทคัดย่อ

สหสัมพันธ์ของคุณภาพผลระหว่างคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของชมพู่พันธุ์ ทับทิมจันทร์

การประเมินสหสัมพันธ์ระหว่างคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของผลชมพู่พันธุ์ “ทับทิมจันทร์”เพื่อใช้เป็นดัชนีในการเลือกซื้อสำหรับผู้บริโภคและแนวทางในการคัดเลือกลูกผสมของนักปรับปรุงพันธุ์ โดยสุ่มเก็บผลชมพู่ที่มีอายุ 50 วันหลังดอกบาน จำนวน 102 ผล จากสวนเกษตรกร จ.อุบลราชธานี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553จากนั้นทำการบันทึกคุณภาพผลจำนวน 10 ลักษณะ ดังนี้ ค่าเฉลี่ยน้ำหนักผลเท่ากับ148.43 กรัมค่าเฉลี่ยความกว้างผลเท่ากับ 8.5  เซนติเมตร  ค่าเฉลี่ยความยาวผลเท่ากับ 6.46 เซนติเมตร ค่าเฉลี่ยความแน่นเนื้อเท่ากับ 21.35 นิวตัน ค่าเฉลี่ย ค่า L* (ค่าความสว่าง) เท่ากับ  37.07 ค่าเฉลี่ย ค่า a* (ค่าสีแดง) เท่ากับ +16.32 ค่าเฉลี่ย ค่า b* (ค่าสีเหลือง) เท่ากับ +15.72 ของผิวผล ค่าเฉลี่ยปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด (TSS) เท่ากับ 8.87 องศาบริกซ์ ค่าเฉลี่ยปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (TA) เท่ากับ 2.08 % และค่าเฉลี่ย TSS:TA เท่ากับ4.54 สำหรับสหสัมพันธ์ของคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของผลชมพู่ พบว่า ขนาดผลซึ่งประกอบด้วยน้ำหนัก ความกว้าง และความยาวมีสหสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับความแน่นเนื้อ สีแดงบนผิวผล TSSและ TSS:TAโดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่าง 0.24 - 0.67 และพบสหสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับ TA  (r = -0.20) ดังนั้นผู้บริโภคและนักปรับปรุงพันธุ์สามารถใช้ขนาดผลและสีแดงที่เปลือกผลเป็นดัชนีเบื้องต้นสำหรับประเมินความแน่นเนื้อ TSS TA และ TSS:TA ของผลชมพู่พันธุ์ “ทับทิมจันทร์” ได้