บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารดูดซับเอทิลีนต่อคุณภาพของช่อผลลองกองระหว่างการเก็บรักษา

อัญชลี ศิริโชติ บุปผา จองปัญญาเลิศ ศุภชัย ภิสัชเพ็ญ อดิเรก รักคง สุภาณี ชนะวีรวรรณ และ ชัยรัตน์ พึ่งเพียร

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 291-294. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของสารดูดซับเอทิลีนต่อคุณภาพของช่อผลลองกองระหว่างการเก็บรักษา

การศึกษาผลของระดับสารดูดซับเอทิลีนต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของช่อผลลองกองระหว่างการเก็บรักษา โดยบรรจุช่อผลลองกองอายุ 13 สัปดาห์หลังดอกบาน มีน้ำหนักเฉลี่ย 520.15±48.66ก./ช่อ บรรจุช่อผลในถาด polypropylene (PP)ขนาด 119.0´178.0´72.0 มม. ร่วมกับสารดูดซับเอทิลีน (น้ำหนัก 3 ก./ซอง) ปริมาณ 0 (ชุดควบคุม),1, 2 และ 3      ซอง/ถาด ปิดถาดด้วยฟิล์ม polyvinyl chloride (PVC)(ความหนา 11 ไมโครเมตร) และเก็บรักษาที่ 18±1°C เป็นเวลา 0, 3, 6, 9 และ12 วัน พบว่า การเก็บช่อผลลองกองร่วมกับสารดูดซับเอทิลีน สามารถชะลอการหลุดร่วงของผลได้ดีกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05)โดยช่อผลลองกองชุดควบคุมและช่อผลที่เก็บร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนทุกชุดการทดลอง จะเกิดการหลุดร่วงของผลเมื่อเก็บรักษานาน 9 และ 12 วัน ตามลำดับ เมื่อเก็บรักษานาน 12 วัน ค่าความแน่นเนื้อของผลลองกองแต่ละชุดการทดลองไม่แตกต่างกัน ช่อผลลองกองที่เก็บร่วมกับสารดูดซับเอทิลีนปริมาณ 0,1, 2 และ 3 ซอง/ถาด มีค่าความสว่าง (L*)ของผิวเปลือกลดลง 12.11, 4.63, 4.27 และ 5.16% ตามลำดับ และมีความเข้มข้นของเอทิลีนในบรรจุภัณฑ์ เท่ากับ 9.54±0.14, 2.17±0.11, 1.13±0.03 และ 0.55±0.06 mg.kg-1 ตามลำดับ อัตราส่วนระหว่างปริมาณของแข็งที่ละลายได้ทั้งหมดต่อปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ (TSS/TA) ของแต่ละชุดการทดลองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (p<0.05) ระหว่างเก็บรักษา งานวิจัยนี้พบว่าช่อผลลองกองที่เก็บร่วมกับสารดูดซับเอทิลีน 3 ซอง/ถาด มีการหลุดร่วงของผลต่ำที่สุด ซึ่งมีค่าไม่เกิน 3% และเก็บรักษาได้นานอย่างน้อย 12 วัน โดยไม่พบผลเน่าเสีย