บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการไว้จำนวนผลที่มีผลต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา

นุชนาฏ ภักดี และ พีระศักดิ์ ฉายประสาท

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 212-215. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของการไว้จำนวนผลที่มีผลต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา

ผลของการไว้ผลที่มีผลต่อคุณภาพส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา ทำการทดลองกับต้นส้มโอจากสวนส้มโอเกษตรกร อ.เมือง จ.ชัยนาท ที่มีอายุ 6 ปี มีเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 2.5-2.7 เมตร และเส้นรอบวงโคนต้นประมาณ 0.4 - 0.5 เมตร โดยไว้ผลเมื่อผลส้มโอมีอายุ 1 เดือนหลังดอกบาน (ผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-11 เซนติเมตร) และทำการตัดแต่งผลที่ออกใหม่ทุกๆ 2 สัปดาห์ วางแผนการทดลองแบบ randomized complete block design (RCB) จำนวน 3 ซ้ำๆละ 3 ต้น แบ่งเป็น 4 กรรมวิธี ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 ชุดควบคุม (ไม่มีการปลิดผลและมีผลประมาณ 135-140 ผล), กรรมวิธีที่ 2 ไว้ผลที่ระดับ 60 ผล/ต้น, กรรมวิธีที่ 3 ไว้ผลที่ระดับ 80 ผล/ต้น และกรรมวิธีที่ 4 ไว้ผลที่ระดับ 100 ผล/ต้น ทำการเก็บผลส้มโอมาตรวจสอบคุณภาพทางเคมีกายภาพเมื่อผลส้มโอมีอายุ 7เดือน หลังดอกบาน โดยทำการตรวจคุณภาพ ดังนี้ น้ำหนักผล (กิโลกรัม) เส้นรอบวง (เซนติเมตร) น้ำหนักเปลือก (กรัม) ความหนาเปลือก (เซนติเมตร) ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้(SS) ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้(TA) วิตามินซี SS/TA และค่าเปลี่ยนแปลงสีผิว ผลการทดลอง พบว่า การไว้ผลที่ 60 ผล/ต้น มีผลทำให้ น้ำหนักผล (1.26 กิโลกรัม) ความแน่นเนื้อของเนื้อส้มโอ และปริมาณSS/TA มีค่ามากกว่ากรรมวิธีอื่นๆ ส่วนการไว้ผลที่ 80 ผล/ต้น มีผลทำให้  ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ และปริมาณวิตามินซีมีค่ามากกว่าชุดควบคุม แต่พบว่าการไว้ผลที่ 100 ผล/ต้น มีผลทำให้ ความสูง (15.72 เซนติเมตร) เส้นรอบวง(54.33เซนติเมตร)  และน้ำหนักเปลือก(0.54 กิโลกรัม) มีค่ามากกว่ากรรมวิธีอื่นๆในส่วนของค่าการเปลี่ยนแปลงสีผิวในทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ