บทคัดย่องานวิจัย

ผลของ 1-MCP ต่อการลดอาการสะท้านหนาวของฝักกระเจี๊ยบเขียว

พนิดา บุญฤทธิ์ธงไชย เบญจมาพร มธุลาภรังสรรค์ และ ศิริชัย กัลยาณรัตน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 204-207. 2554.

2554

บทคัดย่อ

ผลของ 1-MCP ต่อการลดอาการสะท้านหนาวของฝักกระเจี๊ยบเขียว

กระเจี๊ยบเขียวเป็นผักเขตร้อนที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่มักเกิดอาการช้ำสีน้ำตาลได้ง่ายเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 7 องศาเซลเซียสงานวิจัยนี้ได้นำฝักกระเจี๊ยบเขียวมารมด้วยสาร1-methylcyclopropene (1-MCP) ที่ความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม) 5 และ10 mg.Kg-1 ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 16 ชั่วโมง หลังจากนั้นนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95 พบว่าฝักกระเจี๊ยบเขียวในชุดควบคุมที่ไม่ได้รมด้วย 1-MCP มีลักษณะการเกิดอาการสะท้านหนาว คือมีอาการช้ำสีน้ำตาลร้อยละ 6-25 ที่ผิวของฝักกระเจี๊ยบเขียว ในวันที่ 9 ของการเก็บรักษา ในขณะที่ชุดที่ผ่านการรมด้วย 1-MCP สามารถชะลออาการสะท้านหนาวได้จนกระทั่งวันที่ 12 ของการเก็บรักษา โดยฝักกระเจี๊ยบเขียวที่รมด้วย 1-MCP 5 mg.Kg-1  มีการเกิดสะท้านหนาวน้อยกว่าชุดทดลองอื่น นอกจากนี้พบว่ากระเจี๊ยบเขียวที่ผ่านการรมด้วย 1-MCP มีอัตราการสูญเสียน้ำหนักและการเปลี่ยนแปลงสีผิวของเปลือกฝักกระเจี๊ยบเขียวน้อยกว่าชุดควบคุม ทั้งนี้กระเจี๊ยบเขียวที่ผ่านการรมด้วย 1-MCP 5 mg.Kg-1 มีการเปลี่ยนแปลงค่าสีเปลือกน้อยกว่าชุดทดลองอื่นในระหว่างการเก็บรักษา ซึ่งมีค่า L แสดงถึงค่าความสว่างของฝักกระเจี๊ยบเขียวน้อยกว่าชุดทดลองอื่น และมีค่า a ซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นแดงมีค่ามากกว่าฝักกะเจี๊ยบเขียวในชุดทดลองอื่น