บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารลดแรงตึงผิวที่ผสมน้ำมันหอมระเหยเพื่อการควบคุมโรคผลเน่าในมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยว

ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ ณัฐพงษ์ บัณฑิตนิธิกุล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 57-60. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การใช้สารลดแรงตึงผิวที่ผสมน้ำมันหอมระเหยเพื่อการควบคุมโรคผลเน่าในมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยว

การทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเส้นใยของเชื้อรา Lasiodiplodia theobromaeสาเหตุโรคขั้วผลเน่าในมะม่วง ด้วย อาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ที่ผสมน้ำมันหอมระเหยจาก กานพลู สะระแหน่ geraniol และ eugenol ภายหลังการวางเส้นใยเชื้อรา และบ่มเชื้อแล้ว 2วัน มีการยับยั้งเส้นใยของเชื้อราอย่างสมบูรณ์ในอาหารเลี้ยงเชื้อผสมกับน้ำมันกานพลู หรือ eugenol ที่ระดับ 500 และ 1000ppm การนำน้ำมันหอมระเหยไปปรับใช้เพื่อควบคุมโรคในลักษณะสารลดแรงตึงผิวผลไม้สองสูตรที่มีองค์ประกอบพื้นฐานจาก cabopol และ kelzanเป็นส่วนผสม สารลดแรงตึงผิวที่เตรียมไว้จะผสมกับ eugenol และน้ำมันกานพลู ให้มีระดับความเข้มข้นของสารออกฤทธ์ 1000 ppm การทดสอบประสิทธิภาพจะใช้สารลดแรงตึงผิวไปเคลือบทั่วผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ในระยะแก่เต็มที่ ก่อนวางด้วยเส้นใยเชื้อราทดสอบบนผลมะม่วงบริเวณใกล้กับขั้ว ตอนกลาง และปลายผล และเก็บในตู้บ่มเชื้อ 15องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-80 เปอร์เซ็นต์ นาน 4 วัน พบว่าสารลดแรงตึงผิวผลไม้ที่มีองค์ประกอบของ cabopol ผสมน้ำมันกานพลูทำให้ขนาดของแผลขั้วผลเน่าบนผลมะม่วงลดลง 47.27เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับชุดควบคุมที่มีการปลูกเชื้อ ในขณะที่การใช้เพื่อควบคุมโรคแอนแทรคโนสมะม่วงมีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า