บทคัดย่องานวิจัย

การใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิด้วยระบบสุญญากาศกับผักและสมุนไพรของโครงการหลวง

ดนัย บุณยเกียรติ พิชญา บุญประสม พูลลาภ และชัยพิชิต เชื้อเมืองพาน

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 (3 พิเศษ): 41-44. 2554.

2554

บทคัดย่อ

การใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิด้วยระบบสุญญากาศกับผักและสมุนไพรของโครงการหลวง

จากการศึกษาเทคโนโลยีการลดอุณหภูมิแบบสุญญากาศกับผักและสมุนไพรของโครงการหลวง โดยหาพารามิเตอร์ที่เหมาะสมในการลดอุณหภูมิผักอินทรีย์ 4ชนิด คือ กะหล่ำปลีรูปหัวใจ ยอดซาโยเต้ เบบี้แครอท และเบบี้ฮ่องเต้ และผักสมุนไพร 4ชนิด คือ ผักชีไทย กะเพรา โหระพา และใบมะกรูด โดยการนำผักในระยะความแก่ทางการค้ามาตัดแต่งและบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์พร้อมจำหน่าย เรียงลงในตะกร้าพลาสติกที่มีรู แล้วจัดเรียงตะกร้าพลาสติกในห้องลดอุณหภูมิจนเต็มความจุของห้อง หาพารามิเตอร์ที่เหมาะสมโดยการตั้งค่าความดันสุดท้ายในห้องลดอุณหภูมิต่างกัน และกำหนดเวลาที่วางผลิตผลไว้ในห้องลดอุณหภูมิหลังจากความดันภายในห้องลดลงถึงระดับที่กำหนดไว้ (holding time)ซึ่งจากผลการทดลอง พบว่า พารามิเตอร์ที่เหมาะสมในกระบวนการลดอุณหภูมิยอดซาโยเต้อินทรีย์ คือ การกำหนดความดันสุดท้ายที่ 10 และ 11 มิลลิบาร์ นาน 3 และ 5 นาที ตามลำดับ ความดันสุดท้ายสำหรับกะหล่ำปลีรูปหัวใจอินทรีย์ คือ 6 และ 6.5 มิลลิบาร์ นาน 15 และ 20 นาที ตามลำดับ  ความดันสุดท้ายสำหรับเบบี้ฮ่องเต้อินทรีย์ คือ 6 มิลลิบาร์ นาน 25 และ 15 นาที ตามลำดับ  ความดันสุดท้ายสำหรับ               เบบี้แครอทอินทรีย์ที่ความดัน 6 และ 5.5 มิลลิบาร์ นาน 20 และ 10 นาที ตามลำดับ  ความดันสุดท้ายสำหรับกะเพรา คือ 14 และ 13 มิลลิบาร์ นาน 2 และ 1 นาที ตามลำดับ  สำหรับโหระพากำหนดความดันสุดท้ายที่ 13 และ 12 มิลลิบาร์ นาน 5 และ 3 นาที ตามลำดับ  ความดันสุดท้ายสำหรับผักชีไทย คือ 6 มิลลิบาร์ นาน 1 และ 3 นาที ตามลำดับ  และใบมะกรูดที่ความดัน 6 และ 6.5 มิลลิบาร์ นาน 5 และ 5 นาที ตามลำดับ โดยผักมีอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับอุณหภูมิเหมาะสมต่อผักและผักไม่แสดงอาการเหี่ยวหลังจากการลดอุณหภูมิ