บทคัดย่องานวิจัย

การเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างกระดาษชะลอการสุกและฟิล์มยับยั้งโรคแอนแทรกโนสสำหรับยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้

สุพัฒน์ คำไทย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 595-598 (2554)

2554

บทคัดย่อ

การเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างกระดาษชะลอการสุกและฟิล์มยับยั้งโรคแอนแทรกโนสสำหรับยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้ จากการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้มีความสามารถดูดซับเอทิลีนและยับยั้งเชื้อสาเหตุโรคแอนแทรกโนสโดยทำการผลิตกระดาษที่มีคุณสมบัติดังกล่าว 2ชนิด ได้แก่ (1) กระดาษที่เติมสารดูดซับเอทิลีนและสารยับยั้งเชื้อรา (2) กระดาษที่เติมสารดูดซับเอทิลีนและผงเปลือกมังคุดที่ทำหน้าที่เป็นสารยับยั้งเชื้อรา และ ผลิตฟิล์มคาร์บอกซีเมลธิลเซลลูโลสจากเยื่อฟางข้าวที่เติมสารยับยั้งเชื้อรา จากนั้นนำกระดาษทั้ง 2 ชนิด ที่ผลิตขึ้นห่อผลมะม่วง และ ทำการเคลือบผิวมะม่วงด้วยฟิล์มคาร์บอกซีเมลธิลเซลลูโลส (CMC) โดยเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้ที่อุณหภูมิ 13 oCและ 90 ± 5%RHผลทดลอง พบว่า วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นสามารถรักษาคุณสมบัติด้านต่างๆ เช่น การสูญเสียน้ำหนัก ความแน่นเนื้อ การเปลี่ยนแปลงสี ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ ปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำได้ และ คุณภาพของมะม่วงอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้บริโภคยอมรับได้ ในกรณีของประสิทธิภาพการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วง แสดงให้เห็นว่า การเคลือบผิวมะม่วงด้วยฟิล์ม CMCสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้นาน 24 วัน ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาน้อยกว่ากระดาษทั้งสองชนิด โดยกระดาษชนิดที่ 1 และ 2 สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้นาน 30และ 27 วัน ตามลำดับ เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพของวัสดุบรรจุภัณฑ์กระดาษทั้งสองชนิด และ ฟิล์ม CMCพบว่า สามารถลดการเกิดจุดดำบนผิวมะม่วง ซึ่งเกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคแอนแทรกโนสของมะม่วงน้ำดอกไม้ (Colletotrichum  gloeosporioides)