บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการแช่เมล็ดพันธุ์พริกด้วยสารละลายไคโตซานและการใช้น้ำร้อนต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในระหว่างการเก็บรักษา

นกน้อย ชูคงคา ทรงศิลป์ พจน์ชนะชัย ภภัสสร วัฒนกุลภาคิน และเดือนเต็ม ลอยมา

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 437-440 (2554)

2554

บทคัดย่อ

ผลของการแช่เมล็ดพันธุ์พริกด้วยสารละลายไคโตซานและการใช้น้ำร้อนต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในระหว่างการเก็บรักษา

การทดลองผลของการแช่เมล็ดพริกพันธุ์ TVRC 758 ที่เก็บเกี่ยวในปี พ.ศ. 2549 ในน้ำกลั่น น้ำร้อน 50 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที กรดอะซิติก 0.5เปอร์เซ็นต์ และสารละลายไคโตซาน 0.6 และ 0.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 60 นาที แล้วนำมาผึ่งลมให้แห้งที่อุณหภูมิห้อง 1 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับเมล็ดชุดควบคุมที่มีความงอก 83.7เปอร์เซ็นต์  พบว่า เมล็ดที่แช่น้ำกลั่นมีความงอก (91.7 เปอร์เซ็นต์)ความแข็งแรงของเมล็ด (ดัชนีความงอกมีค่า 10.90) และเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของต้นกล้า (38.25 เปอร์เซ็นต์) สูงที่สุด เมื่อนำเมล็ดพันธุ์พริกดังกล่าวบรรจุในถุงซิปชนิดโพลีเอทิลีน เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 1-5 องศาเซลเซียส นาน 4 ปี พบว่าเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ดชุดทดลองสูงกว่า 65.7 เปอร์เซ็นต์ และเมล็ดที่แช่น้ำกลั่นมีเปอร์เซ็นต์ความงอก (80.2เปอร์เซ็นต์) และความแข็งแรงที่ทดสอบด้วยวิธีดัชนีความงอก ระยะเวลาเฉลี่ยในการงอก (MGT) และความยาวรากและลำต้นสูงที่สุด และให้เปอร์เซ็นต์การอยู่รอดของต้นกล้าสูงที่สุด รองลงมาคือ เมล็ดที่แช่สารละลายไคโตซาน 0.6 และ 0.8เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความงอก 75.0 และ 73.2เปอร์เซ็นต์  ตามลำดับ ดังนั้น การจุ่มเมล็ดพันธุ์พริก TVRC 758 ด้วยน้ำกลั่นแล้วลดความชื้นให้เท่ากับความชื้นเริ่มต้นสามารถชะลอการเสื่อมสภาพของเมล็fได้