บทคัดย่องานวิจัย

ปริมาณสารฟีนอลิกโดยรวมในเมล็ดของข้าวเหนียวก่ำกับความสัมพันธ์กับลักษณะฟีโนไทป์ของพันธุ์

ธนพัฒน์ รุ่งวัฒนพงษ์ กนกวรรณ ศรีงาม และ ดำเนิน กาละดี

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 417-420 (2554)

2554

บทคัดย่อ

ปริมาณสารฟีนอลิกโดยรวมในเมล็ดของข้าวเหนียวก่ำกับความสัมพันธ์กับลักษณะฟีโนไทป์ของพันธุ์

การตรวจสอบปริมาณสารฟีนอลิกโดยรวม ในน้ำสกัดพืช สามารถบ่งชี้ถึงระดับของปฏิกิริยาการต้านอนุมูลอิสระของพืชนั้นๆได้ งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ปริมาณสารฟีนอลิกโดยรวม ในเมล็ดข้าวกล้องไม่ขัดสีของข้าวเหนียวก่ำพันธุ์พื้นเมือง 31พันธุ์ รวมทั้งศึกษาลักษณะทางฟีโนไทป์เฉพาะประจำพันธุ์ วัตถุประสงค์เพื่อประเมินความแตกต่างระหว่างพันธุ์ของปริมาณสารฟีนอลิกโดยรวม และประเมินความสัมพันธ์กับความแตกต่างของลักษณะทางฟีโนไทป์ ผลการทดลอง พบความแตกต่างของปริมาณสารฟีนอลิกโดยรวม ตั้งแต่ 2.51 ถึง 10.86 mg/g GE (P≥0.01) และปริมาณสารดังกล่าวในเมล็ดของข้าวเหนียวก่ำ (เฉลี่ย 4.86 mg/g GE ) จะสูงกว่าในเมล็ดข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (0.75 mg/g GE)และของ กข 6 (0.65 mg/g GE) แสดงว่าข้าวเหนียวก่ำมีความสามารถในปฏิกิริยาการต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวขาว ส่วนความแตกต่างทางฟีโนไทป์นั้น พบว่าความต่างของสีลำต้น ใบ ดอก และเมล็ด แสดงลักษณะเฉพาะประจำแต่ละพันธุ์ แต่ความแตกต่างทางฟีโนไทป์ของสีเยื่อหุ้มเมล็ดเท่านั้น ที่แสดงความสัมพันธ์กับความแตกต่างของปริมาณสารฟีนอลิกโดยรวม  ซึ่งสามารถแบ่งสีเยื่อหุ้มเมล็ดได้ 3 กลุ่มคือ 1)เยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำ 2) เยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วง 3) เยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงอ่อน โดยกลุ่มที่เยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำ (3.09-10.86 mg/g GE)แสดงปริมาณสารสูงกว่ากลุ่มเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วง (2.51-6.14 mg/g GE) และกลุ่มเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงอ่อน  (2.72–3.73 mg/g GE)ตามลำดับ