บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของก๊าซโอโซนในการควบคุมด้วงงวงข้าวในข้าวสาร

เจนวิทย์ ทาแกง เยาวลักษณ์ จันทร์บาง และไสว บูรณพานิชพันธุ์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 410-413 (2554)

2554

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของก๊าซโอโซนในการควบคุมด้วงงวงข้าวในข้าวสาร

ด้วงงวงข้าว (Sitophilus oryzae Linnaeus) เป็นแมลงศัตรูข้าวสารและข้าวเปลือกที่สำคัญในโรงเก็บรักษา  ด้วงงวงข้าวในระยะวัยอ่อน ได้แก่ ระยะไข่ หนอน และดักแด้ อาศัยอยู่ภายในเมล็ด ยากต่อการตรวจพบ และหากติดไปกับผลผลิตข้าวจะสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย สร้างความเสียหายต่อไปได้ ในการทดลองนี้ได้ศึกษาผลกระทบของก๊าซโอโซนต่อด้วงงวงข้าว ในห้องปฏิบัติการโดยทำให้ด้วงงวงข้าวระยะหนอน และดักแด้เจริญอยู่ในข้าวสารพันธุ์ขาวดอกมะลิ  105เพื่อให้ด้วงงวงข้าวเพศเมียวางไข่ลงบนข้าวสาร หลังจากนั้นข้าวสารที่มีไข่ถูกคัดแยกโดยการย้อมสีด้วย acid fuchsin 0.05%  จากนั้นแยกเลี้ยงเดี่ยวโดยใช้ไข่ 1 ฟองต่อข้าวสาร 1 เมล็ด ภายใต้สภาพอุณหภูมิห้องที่อุณหภูมิ 28-32°Cในกล่องปรับความชื้นที่ระดับ 75% RH พบว่าไข่ของด้วงงวงข้าวที่ได้รับการย้อมสีสามารถฟักและมีการเจริญเป็นตัวเต็มวัยได้เฉลี่ย 63.75% โดยใช้เวลาตั้งแต่ระยะไข่ จนถึงตัวเต็มวัยเป็นเวลาประมาณ 40-45วัน ด้วงงวงข้าวในระยะไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย เมื่อได้รับก๊าซโอโซนที่ระดับความเข้มข้น 60 ppm เป็นเวลา 2 ชั่วโมง พบว่ามีการตาย 27.50±2.63, 65.83±5.50, 17.50±1.26 และ 17.50±2.89% ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่าด้วงงวงข้าวในระยะไข่ ดักแด้ และตัวเต็มวัยสามารถทนก๊าซโอโซนได้ดีกว่าระยะหนอน และจากการสังเกตยังพบด้วยว่าดักแด้ของด้วงงวงข้าวที่ได้รับก๊าซโอโซน มีรูปร่างลักษณะผิดปกติ