บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของไคโทซานในการควบคุมโรคเน่าราเขียว (Penicillium digitatum Sacc.) ของผลส้มโชกุนหลังการเก็บเกี่ยว

แววฤดี แววทองรักษ์ ศุภชัย ภิสัชเพ็ญ และ วิจิตรา ลีละศุภกุล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 159-162 (2554)

2554

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของไคโทซานในการควบคุมโรคเน่าราเขียว (Penicillium digitatum Sacc.) ของผลส้มโชกุนหลังการเก็บเกี่ยว

ไคโทซานเป็นพอลีเมอร์ธรรมชาติที่มีคุณสมบัติยั้บยั้งการเจริญของเชื้อราและกระตุ้นระบบป้องกันตัวของพืช นอกจากนี้ไคโทซานถูกนำมาใช้ในการเคลือบผิวผลไม้เพื่อยืดอายุของผลผลิตและป้องกันโรค งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการใช้ไคโทซานเป็นสารเคลือบผิวส้มและทดสอบประสิทธิภาพการควบคุมโรคเน่าราเขียวสาเหตุจากเชื้อ P. digitatum  Sacc. หลังการเก็บเกี่ยว การทดสอบการยับยั้งการเจริญของเชื้อราเมื่อใช้ไคโทซานที่ความเข้มข้น 0.01, 0.05, และ 0.1 % (w/v)บนจานอาหารเลี้ยงเชื้อ PDAพบว่าที่ความเข้มข้นของ 0.05 และ 0.1 % สามารถยับยั้งได้ 92.06 และ 100 % ตามลำดับ หลังจากบ่มเชื้อนาน 7 วัน เมื่อเคลือบผลส้มด้วยสารละลายไคโทซานที่ความเข้มข้น  0.1, 0.5 และ 1% และปลูกเชื้อราเขียว จัดเรียงในกล่องพลาสติกที่มีความชื้น 95% และบ่มที่ 25 °C วัดขนาดบาดแผลทุกวันจนครบ 7 วัน พบว่าผลส้มที่เคลือบผิวด้วยสารละลายไคโคซานเกิดโรคน้อยกว่าชุดควบคุม โดยในชุดทดสอบผลส้มที่เคลือบด้วย 0.5 และ 1% ไคโทซานพบอาการของโรคลดลง 70-80%แต่ที่เคลือบด้วย 0.1% ไคโทซานนั้นอาการของโรคเกิดขึ้นอย่างรุนแรง  ดังนั้นจากผลการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าศักยภาพของไคโทซานในการควบคุมโรคเน่าราเขียวของผลส้มโชกุนควรใช้ความเข้มข้นที่สูงกว่า 0.5 %