บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาใบตองสด

พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล ไพลิน นงค์คำ ชูศักดิ์ คุณุไทย เจริญ ขุนพรม ยุพิน อ่อนศิริ และ สมนึก ทองบ่อ

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 42 : 1 (พิเศษ) : 95-98 (2554)

2554

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาใบตองสด

 

การใช้ประโยชน์จากใบตองในการห่อหุ้มอาหาร ตกแต่งสถานที่ เช่น ร้านอาหาร สปา และโรงแรม เผยแพร่วัฒนธรรมไทย เช่น ประเพณีลอยกระทง และ ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวฮินดูและพุทธ ในต่างประเทศนั้นมีความต้องการสูง ใบตองจึงนับเป็นอีกหนึ่งผลิตผลเกษตรที่ควรได้รับการสนับสนุนเพื่อการส่งออกเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามคุณภาพและความสดของใบตองนั้นขึ้นกับ พันธุ์กล้วย อุณหภูมิในการขนส่งและเก็บรักษา และ การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยว เป็นสำคัญ จากการทดลองเปรียบเทียบคุณภาพใบตองของกล้วยพันธุ์ตานีหม้อ ตานีหิน กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอมทองที่เก็บเกี่ยวจากแปลงเกษตรกรในพื้นที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และอุณหภูมิในการเก็บรักษาที่ 5, 10, 15 และ 25+1ซ พบว่า ใบตองทั้งหมดมีการหายใจแบบ climactericโดยอัตราการหายใจเกิดขึ้นสูงภายหลังเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 75%เป็นเวลา 3 – 5 วัน สัมพันธ์กับอัตราการผลิตเอทิลีนและการเหลืองของใบตอง ทั้งนี้ใบตองกล้วยพันธุ์ตานีหม้อมีอัตราการสูญเสียน้ำน้อยที่สุดและมีอายุการใช้งานในสภาพดังกล่าวนานที่สุด 6 วัน โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อเก็บรักษาใบตองตานีหม้ออยู่ระหว่าง 5-10 ซ ซึ่งใบตองตานีหม้อเก็บรักษาที่ 10ซ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ สามารถวางจำหน่ายหรือใช้ตกแต่งสถานที่ในรูปใบตองสดที่ 25ซ ได้เป็นเวลา 6 วัน แต่ถ้าเก็บเป็นเวลา 2 สัปดาห์ จะวางจำหน่ายและใช้งานได้น้อยกว่า 3 วัน ขณะที่การเก็บรักษาที่ 5ซ เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ สามารถวางจำหน่ายได้ไม่เกิน 3 วัน