บทคัดย่องานวิจัย

การใช้โซเดียมคาร์บอเนตและไคโตแซนเพื่อควบคุมโรคแอนแทรกโนสของเมล็ดพันธุ์พริกหวาน

ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ และ ทรงศิลป์ พจนชนะชัย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 41 ฉบับที่ 3/1 (พิเศษ). หน้า 373-376. 2553.

2553

บทคัดย่อ

การใช้โซเดียมคาร์บอเนตและไคโตแซนเพื่อควบคุมโรคแอนแทรกโนสของเมล็ดพันธุ์พริกหวาน

 

การทดสอบประสิทธิภาพของสารละลาย sodium carbonate (SC), chitosan และ SC ร่วมกับ chitosan ในการควบคุมโรคแอนแทรกโนสของเมล็ดพันธุ์พริกหวานและผลกระทบที่มีต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ โดยนำเมล็ดพันธุ์พริกหวานมาปลูกด้วยสปอร์ของเชื้อรา Colletotrichum capsici จากนั้นนำเมล็ดมาแช่ใน SC ความเข้มข้น 3%, chitosan ความเข้มข้น 0.8 และ 1.5%, และ SC ความเข้มข้น 3% ร่วมกับ chitosan ความเข้มข้น 0.8 และ 1.5% นาน 60 นาที เปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์พริกที่แช่และไม่แช่ในน้ำกลั่นที่อุณหภูมิห้องนาน 60 นาที พบว่าการแช่เมล็ดพันธุ์พริกหวานใน SC หรือ chitosan สามารถลดการเข้าทำลายของเชื้อราบนเมล็ดพันธุ์ได้และเมล็ดยังคงความแข็งแรงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการแช่เมล็ดพันธุ์พริกหวานใน SC เพียงอย่างเดียว มีประสิทธิภาพดีที่สุด เนื่องจากสามารถควบคุมการเข้าทำลายของเชื้อราที่ปนเปื้อนมากับเมล็ดพันธุ์พริกหวานได้สูง เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์ความงอกมาตรฐาน การอยู่รอดของต้นกล้า และดัชนีการงอกสูงที่สุด และความเร็วในการแทงรากของเมล็ดพันธุ์มีค่าน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดพันธุ์พริกหวานใน ทรีตเมนท์อื่นๆ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า การแช่เมล็ดพันธุ์พริกหวานใน SC ความเข้มข้น 3% นาน 60 นาที มีศักยภาพสูงสุดในการควบคุมเชื้อรา C. capsici ที่ปนเปื้อนมากับเมล็ดโดยไม่ทำให้คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ลดลง