บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินศักยภาพน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนู

เบญญา มะโนชัย กรแก้ว สุภาภรณ์ และ พิจิตรา แก้วสอน

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 41 ฉบับที่ 3/1 (พิเศษ). หน้า 245-248. 2553.

2553

บทคัดย่อ

การประเมินศักยภาพน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์พริกขี้หนู

การศึกษาการประเมินศักยภาพของน้ำมันจากพืชสมุนไพร 7 ชนิด ได้แก่ ขิง กระชาย มะกรูด ตะไคร้ ขมิ้นชัน กระเทียม และไพล สำหรับการเคลือบเมล็ดพันธุ์พริก พบว่า มะกรูดมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยมากที่สุด ร้อยละ 0.81 รองลงมาคือ ขมิ้นชัน ร้อยละ 0.59 ตะไคร้ร้อยละ 0.25 กระเทียมร้อยละ 0.12 ขิงร้อยละ 0.10 กระชายร้อยละ 0.10 และไพลร้อยละ 0.07 ตามลำดับ (p ≤0.05) น้ำมันหอมระเหยทำให้ลดเปอร์เซ็นต์ความงอก และความเร็วในการงอกของเมล็ดพันธุ์พริกลดลงและพบลักษณะการงอกผิดปกติมากกว่าเมล็ดพันธุ์พริกที่ไม่ผ่านการเคลือบ แต่เมล็ดพันธุ์พริกที่เคลือบด้วยน้ำมันหอมระเหยจากมะกรูดและกระชายมีผลต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ใกล้เคียงกับเมล็ดพันธุ์พริกที่ไม่ผ่านการเคลือบ สำหรับเมล็ดพันธุ์พริกที่เคลือบด้วยน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้สามารถยับยั้งเจริญของเชื้อ Bacillus sp. ได้ดีกว่าชุดการทดลองอื่น (p≤0.01) และการเคลือบเมล็ดพันธุ์พริกด้วยน้ำมันหอมระเหยจากกระชายและมะกรูดมีแนวโน้มต่อการออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา Fusarium solani ได้ดีกว่าเมล็ดพันธุ์พริกที่แช่ในเมนโคเซบและการเคลือบด้วยน้ำมันหอมระเหยอื่น ดังนั้นการเคลือบเมล็ดพันธุ์พริกด้วยน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรมีผลต่อการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์แต่อาจมีผลต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์