บทคัดย่องานวิจัย

ผลกระทบของรังสีแกมมาต่อคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ในระหว่างการขนส่งและวาง

ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ และ ธิติมา วงษ์ชีรี

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 9. วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2553. ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์

2553

บทคัดย่อ

ผลกระทบของรังสีแกมมาต่อคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ในระหว่างการขนส่งและวาง

 

การฉายรังสีแกมมาเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ปนเปื้อนไปกับผลผลิตทางการเกษตรและได้รับการยอมรับในหลายประเทศ ในการส่งออกมะม่วงจากประเทศไทยไปสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องผ่านการฉายรังสีแกมมา ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ศึกษาผลกระทบของรังสีแกมมาที่มีต่อคุณภาพของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์สี่ระหว่างการขนส่งที่ 13 องศาเซลเซียส และย้ายออกวางจำหน่ายที่ 25 องศาเซลเซียส โดยนำผลมะม่วงในระยะสุกแก่ทางการค้า มาล้างทำความสะอาดบรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูก และแบ่งมะม่วงออกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 คือมะม่วงที่ไม่ฉายรังสีแกมมา(ชุดควบคุม) ชุดที่ 2 คือมะม่วงที่ฉายรังสีแกมมาที่ 400 เกรย์ จากนั้นเก็บรักษามะม่วงไว้ที่ 13 องศาเซลเซียส นาน 21 วัน (เพื่อจำลองการขนส่งทางเรือ) และย้ายออกมาวางไว้ที่ 25 องศาเซลเซียส ผลการทดลองพบว่า การฉายรังสีแกมมาช่วยชะลอการเกิดโรคแอนแทรกโนส โรคขั้วผลเน่า การเปลี่ยนแปลงสีเปลือกของมะม่วง และรักษาความแน่นเนื้อของมะม่วงไว้ได้ นอกจากนี้ พบว่าการฉายรังสีแกมมาไม่มีผลต่อคะแนนการยอมรับของผู้บริโภคด้านกลิ่น เนื้อสัมผัส และความชอบโดยรวมของมะม่วง