บทคัดย่องานวิจัย

คุณภาพและอายุการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์แตงกวาที่เคลือบด้วยสารเคมีบางชนิด

สิริรัตน์ ภาคสวรรค์ ปริยานุช จุลกะ พิจิตรา แก้วสอน และ สมศิริ แสงโชติ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 9. วันที่ 11-14 พฤษภาคม 2553. ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์

2553

บทคัดย่อ

คุณภาพและอายุการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์แตงกวาที่เคลือบด้วยสารเคมีบางชนิด

 

ศึกษาคุณภาพและอายุการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์แตงกวาที่เคลือบด้วยสารเคมีบางชนิด ณ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ระหว่างเดือนเมษายน ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 นำเมล็ดพันธุ์แตงกวาลูกผสมมาเคลือบด้วยสารควบคุมกำจัดเชื้อรา แบ่งเป็น 8 ทรีทเมนต์ คือ 1) เมล็ดไม่เคลือบ (control) 2) thiram 3) thiram + polymer 4) mancozeb 5) mancozeb + polymer 6) polymer 7) thiram + mancozeb 8) thiram + mancozeb + polymer จากนั้นนำไปเก็บรักษาที่สภาพควบคุมอุณหภูมิ 20 ± 2°C นาน 6 เดือน พบว่า การเคลือบเมล็ดด้วยสารต่างๆ ทำให้ความงอกในห้องปฏิบัติการ ความงอกในสภาพแปลง และเวลาเฉลี่ยในการงอกแตกต่างกันทางสถิติ เมล็ดที่เคลือบด้วย thiram + mancozeb + polymerมีความงอกในห้องปฏิบัติการและสภาพแปลงปลูกสูงสุด (99.75 และ 95.50% ตามลำดับ) เวลาเฉลี่ยในการงอกน้อยที่สุด (4.38 วัน) และได้ต้นกล้าที่มีความแข็งแรงสูงที่สุด ระยะเวลาในการเก็บรักษาที่เพิ่มขึ้นไม่มีผลต่อความงอก แต่มีผลทำให้ความเร็วในการงอกลดลง เมล็ดที่ thiram เป็นองค์ประกอบของสารเคลือบไม่พบเชื้อราตลอดอายุการเก็บรักษา ส่วนการเคลือบเมล็ดด้วยสารส่งเสริมการงอก แบ่งเป็น 5 ทรีทเมนต์ คือ 1) เมล็ดไม่เคลือบ (control) 2) GA3 3) GA3 + polymer 4) KNO3 5) KNO3 + polymer พบว่า การเคลือบด้วย GA3 และ KNO3ไม่มีผลต่อความงอกในห้องปฏิบัติการ แต่ทำให้ความงอกในสภาพแปลงสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการเคลือบเมล็ดด้วยสารทั้งสองชนิดไม่มีผลทำให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น