บทคัดย่องานวิจัย

การจำแนกความสุกแก่ของผลแก้วมังกรโดยใช้ Discriminant Analysis

ใจทิพย์ วานิชชัง บัณฑิต จริโมภาส และ อนุพันธ์ เทอดวงศ์วรกุล

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 373-376 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การจำแนกความสุกแก่ของผลแก้วมังกรโดยใช้ Discriminant Analysis

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ จำแนกความสุกแก่ของผลแก้วมังกรโดยใช้  Discriminant analysis ทำการทดลองกับผลแก้วมังกร 2 พันธุ์ คือ พันธุ์เนื้อขาว (Hylocereus undatus)  และพันธุ์เนื้อแดง (Hylocereus polyrhizus) โดยการเก็บเกี่ยวผลแก้วมังกรที่อายุ 23 -40 วันหลังดอกบาน และตรวจวัดสมบัติทางกายภาพ ทางกล ทางสรีระวิทยา และทางแสงตามวิธีมาตรฐาน  ความสุกแก่ของผลแก้วมังกรแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงอ่อน (23-27 วันหลังดอกบาน) ช่วงเจริญเต็มที่  (28-30 วันหลังดอกบาน) และช่วงสุกแก่  (32-40 วันหลังดอกบาน)  ใช้ผลแก้วมังกรตัวอย่างทั้งสิ้น 520 ผล การจำแนกความสุกแก่ของผลแก้วมังกร  ทำการวิเคราะห์ 2แบบ คือ แบบที่ 1 จำแนกเป็น 3 กลุ่ม ตามความสุกแก่ โดยไม่แบ่งพันธุ์ และแบบที่ 2 จำแนกเป็น 6 กลุ่ม ตามความสุกแก่ 3 ระดับ และตามพันธุ์ 2 พันธุ์ สมบัติที่ใช้ในการจำแนก ได้แก่ น้ำหนักจำเพาะ ความกลมของผล อัตราส่วนของน้ำหนักเนื้อต่อน้ำหนักผล ความแน่นเนื้อของผลทั้งเปลือก ความแน่นเนื้อเมื่อไม่มีเปลือก ปริมาณของแข็งที่ละลายได้   ปริมาณกรด อัตราส่วนของปริมาณของแข็งที่ละลายได้ต่อปริมาณกรด  ค่าสีของผลในหน่วย L a และ b  และค่าอัตราส่วนการสะท้อนแสงช่วง 550ต่อ 680 นาโนเมตร  จากการวิเคราะห์ Discriminant  analysis พบว่า สามารถจำแนกความสุกแก่ของผลแก้วมังกร เป็น 3 กลุ่ม และสามารถจำแนกผลแก้วมังกรเป็น 6กลุ่ม ตามความสุกแก่และตามพันธุ์ไ ด้ความถูกต้องถึงร้อยละ  91.9  และ 93.5 เมื่อใช้สมบัติทางกายภาพ ทางกล ทางสรีระวิทยา และทางแสง 9 และ 11 ด้าน ตามลำดับ