บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารรมฟอสฟีนในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการเก็บเกี่ยว

รังสิมา เก่งการพานิช พรทิพย์ วิสารทานนท์ และดวงสมร สุทธิสุทธิ์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 295-298 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การใช้สารรมฟอสฟีนในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการเก็บเกี่ยว

การใช้สารรมฟอสฟีนในการป้องกำจัดแมลงศัตรูข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำการทดลองโดยรมกองข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยสารรมฟอสฟีนภายใต้ผ้าพลาสติก เพื่อศึกษาระดับความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนและประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ มอดหัวป้อมหรือมอดข้าวเปลือก, Rhyzopertha dominica (Fabricius)และมอดแป้ง,  Tribolium castaneum (Herbst) วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 4 ซ้ำ 4 กรรมวิธี ได้แก่  รมด้วย aluminium phosphide อัตรา 1(T1), 2(T2) และ 3(T3)เม็ด(tablet)/ตัน  และ ไม่ใช้สารรม (Control)(T4)  ระยะเวลาในการรม 7 วัน ดำเนินการทดลองระหว่างปี 2548-2550 ที่ห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวฯ และโรงเก็บวัตถุดิบของบริษัทเบทาโกร อโกรกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)   จ.ลพบุรี ผลการทดลองพบว่าการรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยสารรมฟอสฟีนอัตรา 3 เม็ด/ตัน ไม่พบมอดหัวป้อมและมอดแป้งรอดชีวิตทุกระยะการเจริญเติบโต ในขณะที่การรมอัตรา 1 และ 2 เม็ด/ตัน พบมอดหัวป้อมระยะหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยรอดชีวิต ผลการตรวจวัดความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนขณะปฏิบัติการรม วัดความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนได้สูงสุดหลังการรมแล้ว 1 วัน ที่การรมทั้ง 3 อัตรา จากนั้นความเข้มข้นของก๊าซจะลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อครบกำหนดการรม 7 วัน การรมอัตรา 3 เม็ด/ตันความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนยังคงเหลืออยู่ 150 ppm  แต่การรมอัตรา 2 และ 1 เม็ด/ตัน ความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถดูดซับก๊าซฟอสฟีนได้มาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนที่อยู่ภายในกองที่รมลดลงอย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่า การรมอัตรา 1 และ 2 เม็ด/ตันเป็นการรมที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าแมลงได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ดังนั้นเพื่อให้การรมมีประสิทธิภาพในการควบคุมมอดหัวป้อมและมอดแป้งจะต้องทำการรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยสารรมฟอสฟีนอัตรา 3 เม็ด/ตัน