บทคัดย่องานวิจัย

การวิเคราะห์โลจิสติกส์ขาเข้าของข้าวโพดฝักอ่อนในภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศไทย

อนุวัฒน์ รัตนชัย ธนัญญา วสุศรี วาริช ศรีละออง กฤติกา ตันประเสริฐ และ ศิริชัย กัลยาณรัตน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 179-182 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์โลจิสติกส์ขาเข้าของข้าวโพดฝักอ่อนในภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศไทย

 

ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดฝักอ่อนเป็นอันดับ 1 ของโลก ในปี 2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนประมาณ 2.25 แสนไร่ ผลผลิต 260,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,166 ล้านบาท  ประเทศคู่ค้าที่เปิดการค้าเสรี เช่น  จีน  ออสเตรเลีย  อินเดีย  และประเทศในแถบตะวันออกกลาง  สำหรับตลาดหลักในปัจจุบัน  เช่น  สหรัฐอเมริกา  ญี่ปุ่น  เนเธอแลนด์  และไต้หวัน  ก็มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ  ได้แก่  จังหวัดกาญจนบุรี  นครปฐม และราชบุรี  สมาชิกสำคัญในโซ่อุปทานของข้าวโพดฝักอ่อน คือ เกษตรกร ผู้รวบรวม และโรงงานคัดบรรจุ   ใน 3 จังหวัด มีพื้นที่เพาะปลูก 84.2%ของพื้นที่ปลูกทั้งหมดในประเทศไทย จากการสำรวจเกษตรกรจำนวน 63 ราย พบว่า 62%เป็นเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นลูกไร่ของบริษัท Contract Farmingและไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ที่เหลือประมาณ 38%เป็นเกษตรกรที่เป็นลูกไร่ของบริษัทและปฏิบัติตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม GAPเนื่องจากเป็นความต้องการของโรงงาน ซึ่งทางโรงงานที่ส่งออกจะรับซื้อจากเฉพาะเกษตรกรที่ได้รับ GAPที่เป็นระบบ Contract Farming เพราะโรงงานสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) งานวิจัยนี้กล่าวถึงต้นน้ำของโซ่อุปทานคือ เกษตรกร และผู้รวบรวม การวิเคราะห์โซ่อุปทานของข้าวโพดฝักอ่อนตามวิธีการของ Supply-Chain Operations Reference-model (SCOR) ซึ่งประกอบด้วย 5กระบวนการ คือ การวางแผน (Plan)  การจัดหา (Source) การผลิต (Make) การส่งมอบ (Delivery) และการส่งคืนสินค้ากลับ (Return)เพื่อทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันของโลจิสติกส์ขาเข้าของข้าวโพดฝักอ่อน และเพื่อวางแผนปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามหลักของการจัดการโซ่อุปทาน