บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาฟิล์มกำจัดก๊าซเอทิลีนสำหรับบรรจุผลิตผลที่ไวต่อก๊าซเอทิลีน

อศิรา เฟื่องฟูชาติ ดวงพร ศิริกิตติกุล สุจิตรา อภิสิทธิเนตร ชลลดา ฤตวิรุฬห์ และ ตะวัน สุขน้อย

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 156-159 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การพัฒนาฟิล์มกำจัดก๊าซเอทิลีนสำหรับบรรจุผลิตผลที่ไวต่อก๊าซเอทิลีน

 

ในปัจจุบัน ผลิตผลสดมักบรรจุในถุงพลาสติกเพื่อลดการสูญเสียน้ำหนัก บ่อยครั้งที่พบว่ามีการสะสมของก๊าซเอทิลีน ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว     ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงพัฒนาฟิล์มที่กำจัดก๊าซเอทิลีนได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยอาศัยหลักการของ “Mixed Matrix Membrane”  ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการพัฒนาเมมเบรนกรองแยกสารที่อาศัยการเป็นตัวกรองระดับโมเลกุลของสารซีโอไลต์ร่วมกับการยอมให้ก๊าซซึมผ่านได้ของวัสดุพอลิเมอร์ ทำให้เมมเบรนนั้นมีค่าการเลือกซึมผ่านของก๊าซหนึ่งๆ สูง   ในงานวิจัยนี้พบว่า สารซีโอไลต์ที่มีขนาดเล็กกว่า 2ไมโครเมตร มีความไม่ชอบน้ำสูง (SiO2/Al2O3> 25) และมีรูพรุนกว้างกว่าขนาดโมเลกุลจลน์ของก๊าซเอทิลีน (0.39 นาโนเมตร)    เมื่อกระจายตัวในเนื้อฟิล์มที่มีสไตรีนิค    บล็อกโค-โพลิเมอร์เป็นองค์ประกอบ จะให้ค่า ethylene-TR สูง (63,000 – 74,000 ลบ.ซม./ตารางเมตร.วัน)ขณะที่ค่า OTR และ CO2-TR อยู่ในช่วง 8,500 – 15,000 และ 13,200 – 60,000 ลบ.ซม./ตารางเมตร.วัน ตามลำดับ ซึ่งเหมาะสมต่อการเก็บรักษาผลิตผลสด   จากงานวิจัยนี้ยังพบว่าการกระจายตัวของสารซีโอไลต์ ลักษณะบริเวณสัมผัส (interface)และสมบัติการซึมผ่านของเนื้อพลาสติกมีผลโดยตรงต่อการเลือกซึมผ่านก๊าซของฟิล์มดังกล่าวอีกด้วย เมื่อนำฟิล์มที่พัฒนาขึ้นมาบรรจุผักชีจะสามารถรักษาความเขียวของผักชีได้นาน 8 วัน  ที่ 7 °ซ    และถุงพีพีที่มีช่องหน้าต่างเป็นฟิล์มกำจัดก๊าซเอทิลีนเมื่อนำมาบรรจุมะเขือเทศจะสามารถชะลอการสุกได้นาน 7-8วันเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง