บทคัดย่องานวิจัย

การใช้ไขผึ้งเป็นสารเคลือบผิวสำหรับผลมะม่วงน้ำดอกไม้จาก 2 แหล่งผลิต

วิลาวัลย์ คำปวน และ จำนงค์ อุทัยบุตร

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 130-133 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การใช้ไขผึ้งเป็นสารเคลือบผิวสำหรับผลมะม่วงน้ำดอกไม้จาก 2 แหล่งผลิต

 

การศึกษาผลของการนำเอาไขผึ้งมาใช้เพื่อเป็นสารเคลือบผิวสำหรับเคลือบผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่ผลิตจาก 2 แหล่งผลิต โดยใช้สารเคลือบผิวที่มีส่วนผสมของไขผึ้งในปริมาณต่าง ๆ กัน 3 สูตรคือ E (ไขผึ้ง 2.0 เปอร์เซ็นต์และ เรซิ่น 0.4เปอร์เซ็นต์) F (ไขผึ้ง 4.0 เปอร์เซ็นต์, เรซิ่น 0.4 เปอร์เซ็นต์ และสารสกัดจากยางมะม่วง 0.2 เปอร์เซ็นต์) และ G (ไขผึ้ง 2.0 เปอร์เซ็นต์,เรซิ่น 0.8 เปอร์เซ็นต์ และสารสกัดจากยางมะม่วง 0.2 เปอร์เซ็นต์) เคลือบบนผิวมะม่วง  เปรียบเทียบกับสารเคลือบผิวที่มีจำหน่ายทางการค้า (Teva) และชุดควบคุมที่ไม่เคลือบผิว ก่อนนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ผลการทดลองพบว่า สารเคลือบผิวชนิด F มีส่วนประกอบที่เหมาะสมสำหรับยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้ได้ดีสำหรับผลมะม่วงที่มาจากแปลงที่มีการควบคุมโรคก่อนการเก็บเกี่ยว โดยผลมะม่วงจากแหล่งผลิตที่ 1 ที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบผิว Fมีการสูญเสียน้ำและการเกิดโรคต่ำที่สุด และสามารถชะลอการสุกของมะม่วงได้นานที่สุด ส่วนชุดควบคุมมีการสูญเสียน้ำและมีการเกิดโรคสูงที่สุด สำหรับผลมะม่วงจากแหล่งผลิตที่ 2 มีการเกิดโรคสูงกว่ามะม่วงจากแหล่งผลิตที่ 1 แต่มะม่วงจากแหล่งผลิตที่ 2 ที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบผิวทุกชนิดมีการสูญเสียน้ำ และการเกิดโรคไม่แตกต่างกัน