บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ peroxidase ในการชะลอการอุดตันของท่อลำเลียงดอกเบญจมาศ

มัณฑนา บัวหนอง เฉลิมชัย วงษ์อารี และ ศิริชัย กัลยาณรัตน์

วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 41 : 1 (พิเศษ) : 35-38 (2553)

2553

บทคัดย่อ

การใช้สารยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ peroxidase ในการชะลอการอุดตันของท่อลำเลียงดอกเบญจมาศ

การศึกษาผลของสารยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ peroxidase ในการชะลอการอุดตันของท่อลำเลียงดอกเบญจมาศโดยพัลซิ่งดอกเบญจมาศด้วยสารละลาย catechol ที่ระดับความเข้มข้น 0 (ชุดควบคุม)  1  3  5 และ 10 µMเป็นเวลา 5 ชั่วโมง แล้วย้ายมาปักในน้ำกลั่นตลอดระยะเวลาการทดลอง  พบว่า การพัลซิ่งดอกเบญจมาศด้วยสารละลาย catechol ที่ระดับความเข้มข้น 1-5 µMนาน 5 ชั่วโมง สามารถชะลอการลดลงของการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด  อัตราการดูดน้ำ  ปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมด  เมื่อเทียบกับชุดควบคุม ในขณะที่การพัลซิ่งด้วยสารละลาย catechol ที่ระดับความเข้มข้น 10 µMไม่ได้ช่วยให้ดอกเบญจมาศมีคุณภาพและอายุการปักแจกันเพิ่มขึ้น โดย catechol ที่ระดับความเข้มข้น10 µMทำให้เกิดความเป็นพิษต่อพืช (phytotoxicity) โดยเฉพาะก้านดอกซึ่งมีลักษณะเป็นสีดำและใบเหี่ยว ดอกเบญจมาศที่พัลซิ่งด้วยสารละลาย catechol ที่ระดับความเข้มข้น 1 µMมีอายุการปักแจกันนานที่สุด เท่ากับ 9.3 วัน ในขณะที่ดอกเบญจมาศที่พัลซิ่งด้วยสารละลาย catechol ที่ระดับความเข้มข้น 10 µMมีอายุการปักแจกันสั้นที่สุด เท่ากับ 5.4 วัน การตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงลักษณะเนื้อเยื่อท่อลำเลียงดอกเบญจมาศโดยใช้ Scanning Electron Microscopy (SEM) พบว่า ท่อลำเลียงของดอกเบญจมาศในชุดควบคุมมีลักษณะยุ่ยและรูพรุนมีขนาดใหญ่ขึ้นในวันที่ 7 ของการปักแจกัน ส่วนสารละลาย catechol ที่ระดับความเข้มข้นสูงขึ้น ยิ่งทำให้เนื้อเยื่อภายในท่อลำเลียงมีลักษณะเป็นรูพรุนที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ