บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดข้าวโพดหวานพิเศษลูกผสม 3 พันธุ์ โดยการเร่งอายุ

บุญมี ศิริ และ วิทวัส ธีรธิติ

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า

2551

บทคัดย่อ

การประเมินความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดข้าวโพดหวานพิเศษลูกผสม 3 พันธุ์ โดยการเร่งอายุ

                การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษลูกผสม 3 พันธุ์ โดยวิธีการเร่งอายุ และการเก็บรักษาในห้องที่ควบคุมและไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม ทำการทดลองที่ห้องตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการทดลองโดยแบ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 นำมาเร่งอายุเมล็ดที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 8 วัน โดยสุ่มตัวอย่างเมล็ดจากตู้เร่งอายุทุกๆ วัน ส่วนที่ 2 นำไปเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ในห้องควบคุม และไม่ควบคุมสภาพแวดล้อม เป็นเวลา 10 เดือน โดยสุ่มเมล็ดตรวจสอบคุณภาพในการเก็บรักษาทุกๆ เดือน และศึกษาการเปลี่ยนแปลง ความงอกของเมล็ดที่เพาะในห้องปฏิบัติการและในสภาพไร่และความเร็วในการงอก ผลการทดลองพบว่าความงอกของเมล็ดที่เพาะในห้องปฏิบัติการและที่เพาะในสภาพไร่ รวมถึงความเร็วในการงอกของเมล็ดลดลงเมื่อระยะเวลาของการเร่งอายุ และการเก็บรักษาในสภาพควบคุมและไม่ควบคุมสภาพแวดล้อมที่นานขึ้น การเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์โดยการเร่งอายุและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ทั้ง 2 สภาพ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกันแบบ Logistic ซึ่งการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษดังกล่าว ได้จากการคำนวณโดยสมการ logisticและค่าสัมประสิทธิ์การเสื่อมของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเร่งอายุเป็นวิธีที่ใช้ประเมินคุณภาพและอายุการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานพิเศษได้