บทคัดย่องานวิจัย

การใช้สารละลายแคลเซียมคลอไรด์เพื่อยืดอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัว

อัมพวรรณ สนั่นชัย และนิรมล สันติภาพวิวัฒนา

กำหนดการประชุมและบทคัดย่อ. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 7, 26-30 พฤษภาคม 2551. ณ โรงแรม อมรินทร์ลากูน จ. พิษณุโลก. 391 หน้า

2551

บทคัดย่อ

การใช้สารละลายแคลเซียมคลอไรด์เพื่อยืดอายุการปักแจกันของดอกหน้าวัว

                ปัจจุบันไม้ตัดดอกเมืองร้อนได้รับความนิยมทั่วโลกเนื่องจากมีลักษณะและสีสันหลากหลาย สำหรับประเทศไทยดอกหน้าวัวเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่มีการส่งออกและมีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม ดอกหน้าวัวมีปัญหาหลังการเก็บเกี่ยวคือ มีอายุการปักแจกันสั้น เนื่องจากการอุดตันของท่อลำเลียงน้ำ สารเคมีบางชนิด เช่น ซิลเวอร์ไนเตรต และ 8-ไฮดรอกซิควิโนลีนซัลเฟต ถูกนำมาใช้เพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกัน แต่ปัจจุบันการหาสารเคมีชนิดใหม่ที่มีความปลอดภัยสำหรับสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับไม้ตัดดอก งานวิจัยนี้ได้ศึกษาผลของแคลเซียมคลอไรด์เพื่อยืดอายุการปักแจกันสำหรับดอกหน้าวัว โดยแบ่งความเข้มข้นออกเป็น 7 ระดับ คือ 0 250 500 750 1,000 1,250 และ 1,500 ppm ทุกระดับความเข้มข้นถูกเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ผลการทดลองพบว่า แคลเซียมคลอไรด์สามารถลดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ชะลอการเปลี่ยนแปลงสี รักษาการดูดน้ำ และชะลอการลดลงของน้ำหนักสด ดอกหน้าวัวที่ปักในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ที่ระดับความเข้มข้น 1,000 ppm คือชุดการทดลองที่ดีที่สุด โดยมีอายุการปักแจกันนานที่สุดคือ 15.4 วัน รองลงมาได้แก่ 750 1,250  500 1,500 250 และชุดควบคุม ที่มีอายุการปักแจกันนาน 13.4 13.0 12.5 12.5 11.3 และ 9.5 วัน ตามลำดับ