บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสารเคลือบผิวและอุณหภูมิต่ออายุการเก็บรักษาชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์

ณภัทร บัวคลี่คลาย

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) พืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 183 หน้า. 2550.

2550

บทคัดย่อ

ผลของสารเคลือบผิวและอุณหภูมิต่ออายุการเก็บรักษาชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์

การศึกษาผลของสารเคลือบผิวที่บริโภคได้ต่ออายุการเก็บรักษาและคุณภาพของชมพู่ทับทิมจันท์แบบทั้งผลและหั่นชิ้น โดยเคลือบตัวอย่างชมพู่ด้วยวิตามินอี(VE) ความเข้มข้น 1เปอร์เซ็นต์ ที่มีส่วนผสมของเจลาติน(G) ความเข้มข้น 1, 2และ 3เปอร์เซ็นต์ หรือสารละลายวุ้น(A) ความเข้มข้น 1, 2และ 3เปอร์เซ็นต์ และชุดควบคุม (ไม่เคลือบผิว) บรรจุในถาดโฟมขนาด 11 x 19 x 1.5เซนติเมตร หุ้มด้วยแผ่นพลาสติกใส polyvinyl chloride (PVC) ความหนา 13ไมครอน เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10องศาเซลเซียส พบว่าชมพู่แบบทั้งผล มีอายุการเก็บรักษา 10, 10, 14, 12, 8, 8และ 8วันตามลำดับ กิจกรรมของ polyphenol oxidase (PPO) มีแนวโน้มลดลงเมื่อเก็บรักษาไว้นาน 12วัน ส่วนชมพู่แบบหั่นชิ้นมีอายุการเก็บรักษา 8, 6, 6, 6, 4, 4และ 4วัน ตามลำดับ กิจกรรมของ polyphenol oxidase (PPO) มีแนวโน้มลดลง เมื่อเก็บรักษาไว้นาน 6วัน การเคลือบผิวทุกชนิดของชมพู่แบบทั้งผลและหั่นชิ้นทำให้ เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักสด การเกิดสีน้ำตาลของเนื้อผลและการเน่าเสียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษาที่นานขึ้น ขณะที่ปริมาณกรดแอสคอร์บิกและการยอมรับในการบริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่วนเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง สีผิวผล ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) ปริมาณกรดทั้งหมดที่ไตเตรทได้ (TA) และปริมาณแอนโธไซยานินมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และไม่แตกต่างกับการไม่เคลือบผิว

การศึกษาผลของอุณหภูมิต่ออายุการเก็บรักษาและคุณภาพของชมพู่ทับทิมจันท์แบบทั้งผลและหั่นชิ้น โดยนำผลชมพู่ที่เคลือบด้วย VE+G ความเข้มข้น 3เปอร์เซ็นต์ และชมพู่แบบหั่นชิ้น ที่เคลือบด้วย VE+G ความเข้มข้น 1เปอร์เซ็นต์ บรรจุในถาดโฟมขนาด 11 x 19 x 1.5เซนติเมตร หุ้มด้วย PVC ความหนา 13ไมครอน เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง (25องศาเซลเซียส), 15และ 7องศาเซลเซียส พบว่าผลชมพู่ทั้งผลมีอายุการเก็บรักษา 6, 10และ 14วัน ตามลำดับ กิจกรรมของ PPO มีแนวโน้มลดลงเมื่อเก็บรักษาไว้นาน 6วัน ขณะที่กิจกรรมของ peroxidase (POD) มีแนวโน้มลดลงเมื่อเก็บรักษาไว้นาน 12วัน ทุกกรรมวิธีมีเปอร์เซ็นต์ การรั่วไหลของสารอีเล็กโทรไลต์ (EC) ต่ำสุดในวันที่ 4ของการเก็บรักษา ส่วนชมพู่แบบหั่นชิ้น มีอายุการเก็บรักษา 4, 6และ 8วัน ตามลำดับ กิจกรรมของ PPO มีแนวโน้มลดลง เมื่อเก็บรักษาไว้นาน 4วัน ขณะที่กิจกรรมของ POD มีแนวโน้มลดลงเมื่อเก็บรักษาไว้นาน 8วัน ทุกกรรมวิธีมีเปอร์เซ็นต์ EC ต่ำสุดในวันที่ 4ของการเก็บรักษา ในทุกอุณหภูมิของชมพู่แบบทั้งผลและหั่นชิ้นทำให้เปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักสด การเกิดสีน้ำตาลของเนื้อผลและการเน่าเสีย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเก็บรักษาที่นานขึ้น ขณะที่ปริมาณกรดแอสคอร์บิกและ การยอมรับในการบริโภคมีแนวโน้มลดลง ส่วนเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง สีผิวผล ความแน่นเนื้อ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) ปริมาณกรดทั้งหมดที่ไตเตรทได้ (TA) และปริมาณ แอนโธไซยานินมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยและไม่แตกต่างกัน