บทคัดย่องานวิจัย

การใช้น้ำหนักแห้งเป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวของผลทุเรียนพันธุ์กระดุม และพันธุ์ชะนี

ทรงกลด จีระพัฒน์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 171 หน้า. 2549.

2549

บทคัดย่อ

การใช้น้ำหนักแห้งเป็นดัชนีการเก็บเกี่ยวของผลทุเรียนพันธุ์กระดุม และพันธุ์ชะนี

การศึกษาน้ำหนักแห้งของเนื้อในทุเรียนพันธุ์กระดุม จำนวน 7 สวน และทุเรียนพันธุ์ชะนี จำนวน 8 สวน ณ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ระหว่างปี 2545-2547 พบว่าทุเรียนพันธุ์กระดุมมีอัตราการสะสมน้ำหนักแห้งอยู่ระหว่าง 1.0 - 1.8 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน ส่วนทุเรียนพันธุ์ชะนีมีการสะสมน้ำหนักแห้งที่ช้ากว่าซึ่งอยู่ระหว่าง 0.2 –1.1  เปอร์เซ็นต์ต่อวัน โดยในช่วงอายุ 83-90 วันหลังดอกบานของทุเรียนพันธุ์กระดุม และอายุ 97-104 วันหลังดอกบานของทุเรียนพันธุ์ชะนี เป็นช่วงที่มีอัตราการสะสมน้ำหนักแห้งที่สูงที่สุด สำหรับคะแนนคุณภาพการบริโภคทั้ง 6 ลักษณะ (ลักษณะเนื้อ ความหวาน ความมัน กลิ่นและรสที่ผิดปกติ ความพอใจโดยรวม และความบริบูรณ์) พบว่าอายุ 76 –83 วันหลังดอกบาน ของทุเรียนพันธุ์กระดุม และ 90-97 วันหลังดอกบาน ของทุเรียนพันธุ์ชะนี เป็นช่วงที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เมื่ออายุ 90 วันในทุเรียนพันธุ์กระดุม และ 111 วันในทุเรียนพันธุ์ชะนี คะแนนคุณภาพการบริโภคส่วนใหญ่มีค่าอยู่ที่ 5 คะแนนขึ้นไป  โดยลักษณะความหวาน เป็นลักษณะที่คะแนนเพิ่มขึ้นเร็วที่สุด ส่วนลักษณะความพอใจโดยรวมเป็นลักษณะที่คะแนนเพิ่มขึ้นช้าที่สุด เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักแห้งกับคะแนนคุณภาพการบริโภค พบว่าลักษณะเนื้อสัมผัส และกลิ่นและรสที่ผิดปกติ มีความสัมพันธ์ต่ำ ส่วนลักษณะความหวาน ความมัน ความพอใจโดยรวม และความบริบูรณ์  มีความสัมพันธ์ในระดับปานกลางถึงสูงกับน้ำหนักแห้ง ซึ่งนำมาใช้วิเคราะห์น้ำหนักแห้งที่เหมาะสมพบว่าค่าน้ำหนักแห้งที่เหมาะสมสำหรับเก็บเกี่ยวของทุเรียนพันธุ์กระดุมมีค่าเท่ากับ 28.7เปอร์เซ็นต์ สูงกว่ามาตรฐานเดิมที่กำหนดไว้ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ ส่วนทุเรียนพันธุ์ชะนีวิเคราะห์ได้ 26.4เปอร์เซ็นต์ต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสุ่มซื้อผลทุเรียนที่จะส่งออกในทุเรียนพันธุ์กระดุม และพันธุ์ชะนี ในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ตั้งแต่ปี 2545-2547 พบว่าทุเรียนพันธุ์กระดุมที่สุ่มซื้อมาจำนวน 30 ตู้คอนเทนเนอร์ พบว่ามีเพียงปีแรก   (ปีที่เริ่มใช้มาตรฐาน) มีจำนวน 3 ตู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ 27 เปอร์เซ็นต์  ส่วนทุเรียนพันธุ์ชะนีที่ทำการสุ่มซื้อมาจำนวน 38 ตู้คอนเทนเนอร์ พบว่าปีแรกมีจำนวน 9 ตู้จาก 11 ตู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาพบตู้ที่ไม่ผ่านตามเกณฑ์เพียง 3 ตู้จาก 19 ตู้ แต่ในปีสุดท้ายกลับพบว่ามีตู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 6 ใน 8 ตู้ สำหรับต้นทุนที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการให้บริการตรวจสอบความบริบูรณ์ของผลทุเรียนต่อการตรวจสอบ 1 ตู้คอนเทนเนอร์ เป็นจำนวนเงินทั้งหมด 667 บาท แบ่งส่วนของรัฐ 299 บาท ของภาคเอกชน (ผู้ส่งออก) 368 บาทโดยที่รัฐมีต้นทุนส่วนใหญ่มาจากค่าแรงของเจ้าหน้าที่ และค่าพาหนะ ส่วนภาคเอกชนมาจากผลทุเรียนที่ใช้ทดสอบเกือบทั้งหมด