บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการพ่นไคโตซานและปิโตรเลียมออยล์ก่อนการเก็บเกี่ยวต่อสรีรวิทยาและ คุณภาพของช่อดอกกล้วยไม้หวาย Walter Oumae ‘4N’ และ Sonia ‘No.17’ ภายหลังการเก็บเกี่ยว

ดวงใจ ตู้ดำ

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.174หน้า.2549.

2549

บทคัดย่อ

ผลของการพ่นไคโตซานและปิโตรเลียมออยล์ก่อนการเก็บเกี่ยวต่อสรีรวิทยาและ คุณภาพของช่อดอกกล้วยไม้หวาย Walter Oumae ‘4N’ และ Sonia ‘No.17’ ภายหลังการเก็บเกี่ยว

การศึกษาผลของการใช้ไคโตซานที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.04 0.08 และ 0.12 และปิโตรเลียมออยล์ ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.2 0.4 และ 0.6 ก่อนการเก็บเกี่ยวต่อสรีรวิทยาและคุณภาพของดอกกล้วยไม้สกุลหวายลูกผสมสายพันธุ์  Dendrobium Walter Oumae ‘4N’ และ Dendrobium Sonia ‘No.17’ หลังการเก็บเกี่ยว พบว่าการใช้ไคโตซานก่อนการเก็บเกี่ยวที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.12 มีผลทำให้อัตราการดูดน้ำ น้ำหนักสดของช่อดอก และการบานของดอกตูมมากที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยให้ความกว้างของดอกบาน น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของดอกย่อย และความสว่างของกลีบดดอกเพิ่มสูงขึ้นและสามารถลดอัตราการหายใจ อัตราการผลิตเอทิลีน การเสื่อมสภาพของดอก การโค้งงอของก้านดอกย่อย และปริมาณสารโพรลีนในดอกอีกด้วย ส่วนการใช้ปิโตรเลียมออยล์ก่อนการเก็บเกี่ยวทุกความเข้มข้นไม่มีผลต่อความยาวของช่อดอก ความกว้างของดอกบาน น้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของดอกย่อย ยกเว้นปิโตรเลียมออยล์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.6 ที่ทำให้ค่าความสว่าง (ค่า L) ของกลีบดอกสูงที่สุด และการใช้ปิโตรเลียมออยล์ก่อนการเก็บเกี่ยวที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.2 และ 0.4 สามารถลดอัตราการหายใจ อัตราการผลิตเอทิลีน การเสื่อมสภาพของดอก และปริมาณสารโพรลีนในดอกลงได้ และยังมีผลช่วยเพิ่มอัตราการดูดน้ำ น้ำหนักสดของช่อดอก และอัตราการบานของดอกตูมดอกกล้วยไม้ที่ได้รับไคโตซานที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.12 ก่อนการเก็บเกี่ยว แล้วนำมาทำพัลซิ่งด้วยซิลเวอร์ไนเตรต 500 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับน้ำตาลกลูโคสร้อยละ 10 เป็นเวลา 30 นาที หลังจากนั้นนำมาปักในสารละลายเคมียืดอายุ ซึ่งประกอบด้วยซิลเวอร์ไนเตรต 30 มิลลิกรัมต่อลิตร ร่วมกับ 8-Hydroxyquinolinesulfate (HQS) 225  มิลลิกรัมต่อลิตร และน้ำตาลกลูโคสร้อยละ 4 ตลอดระยะการปักแจกัน มีผลทำให้เพิ่มอัตราการดูดน้ำ น้ำหนักสดของช่อดอก อัตราการบานของดอกตูมมากที่สุด และมีผลช่วยลดอัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน การเสื่อมสภาพของดอกย่อย การโค้งงอของก้านดอกย่อย และปริมาณสารโพรลีนในดอก