บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาสารเคลือบอิมัลชันจากไคโตซานและการประยุกต์ใช้ในส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้ง

สุกัญญา วงวาท

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาผิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร) คณะอุตสาหกรรมเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 150 หน้า.2549.

2549

บทคัดย่อ

การพัฒนาสารเคลือบอิมัลชันจากไคโตซานและการประยุกต์ใช้ในส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้ง

การพัฒนาสารเคลือบผิวอิมัลชันจากไคโตซาน เริ่มจากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของสารเคลือบผิวอิมัลชัน พบว่า มวลโมเลกุลของไคโตซาน ความเข้มข้นของไคโตซาน และปริมาณไขแคนดิลิลลา มีผลต่อปริมาณของแข็ง ความหนืด และการเกาะติดพื้นผิววัสดุ ส่วนปริมาณ ทวีน 80 มีอิทธิพลต่อปริมาณของแข็ง และความหนืด ด้านเวลาในการผสมมีมีอิทธิพลต่อปริมาณของแข็งและการเกาะติดพื้นผิววัสดุ จากการศึกษาไอโซเทอมการดูดซับความชื้นของแผ่นฟิล์ม พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อค่าความชื้นในระดับโมโนเลเยอร์ (mo) ตามสมการของแกบ (GAB equation) คือ ความเข้มข้นของไคโตซาน ปริมาณไขแคนดิลิลลา และปริมาณทวีน 80 เมื่อพิจารณากราฟไอโซเทอมของแผ่นฟิล์ม จะพบว่าแผ่นฟิล์มอิมัลชันมีการดูดซับความชื้น และมีค่า mo น้อยกว่าแผ่นฟิล์มไคโตซาน สำหรับทำการทดลองหาสูตรที่เหมาะสมโดยการศึกษาปริมาณของทวีน 80 และไขแคนดิลิลลา พบว่า สูตรของสารเคลือบผิวอิมัลชันที่สามารถป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำได้มากที่สุดคือสูตรที่ประกอบด้วย ไขแคนดิลิลลาร้อยละ 7.50 ปริมาณทวีน 80 ร้อยละ 5.17 โดยสารเคลือบผิวอิมัลชันที่ได้มีค่าการซึมผ่านของไอน้ำ 0.5 กรัมมิลิเมตรต่อตารางเมตรต่อวันต่อมิลลิเมตรปรอท และมีค่าการเกาะติดพื้นผิววัสดุเท่ากับ 16.37 กรัมต่อตารางเมตร จากการศึกษาการนำสารเคลือบผิวอิมัลชันที่พัฒนาได้มาเคลือบส้มเขียวหวานพันธุ์สายน้ำผึ้งโดยเก็บส้มไว้ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 70 ± 5 พบว่า ส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบอิมัลชันมีลักษณะมันเงาน้อยกว่าส้มที่ไม่เคลือบผิว และส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบทางการค้า การเคลือบผิวส้มด้วยสารเคลือบอิมัลชันเข้มข้นร้อยละ 25 สามารถชะลอการสูญเสียน้ำหนัก การเหี่ยวของผิวส้ม การสูญเสียวิตามินซี และอัตราการหายใจ แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางด้าน สีผิว สีน้ำ ความเป็นกรด – เบส ปริมาณกรดที่ไตเตรตได้ และส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบอิมัลชันความเข้มข้นร้อยละ 25 สามารถยืดอายุการเก็บส้มจาก 17 วัน เป็น 27 วัน สารเคลือบอิมัลชัน 1 กิโลกรัม เมื่อนำไปเจือจางให้มีความเข้มข้นร้อยละ 25 สามารถเคลือบส้มได้ 2,500 กิโลกรัม ส่วนต้นทุนของวัตถุดิบในการเตรียมสารเคลือบผิวอิมัลชันจำนวน 1 กิโลกรัมมีราคาเท่ากับ 45.10 บาท และส้มที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบอิมัลชันเข้มข้นร้อยละ 25 มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 0.02 บาทต่อน้ำหนักส้ม 1 กิโลกรัมเมื่อเปรียบเทียบกับส้มที่ไม่เคลือบผิว