บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเปลี่ยนแปลงความชื้นและอุณหภูมิในการกองข้าวแบบต่าง ๆ ระหว่างรอการนวดต่อคุณภาพข้าวสาร

นุชนาท กิจบุญชู

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 87 หน้า. 2548.

2548

บทคัดย่อ

ผลของการเปลี่ยนแปลงความชื้นและอุณหภูมิในการกองข้าวแบบต่าง ๆ ระหว่างรอการนวดต่อคุณภาพข้าวสาร

ศึกษาการกองข้าวเพื่อรอการนวด 2 รูปแบบเป็นระยะเวลา 15 วัน เพื่อวัดผลกระทบต่อคุณภาพการสีและการเกิดข้าวเหลืองของข้าว โดยดำเนินการระหว่างเดือนธันวาคม 2547 ในแปลงเกษตรอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่

ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศภายนอกกองมีผลน้อยต่อสภาพอากาศภายในกองกล่าวคือ อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในกองแบบทรงกรวยคว่ำไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศภายนอก แต่ชั้นบนของกองข้าวทรงสี่เหลี่ยมเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศภายนอกอย่างช้า ๆ ส่วนชั้นล่างและชั้นกลางมี การเปลี่ยนแปลงน้อย

จากการทดลองพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยใน กองข้าวทรงกรวยคว่ำและทรงสี่เหลี่ยมตลอด 15 วัน เท่ากับ 22.5 และ 20.6 องศาเซลเซียสตามลำดับ ส่วนความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยภายในกองมีค่าเท่ากับ 56.7 และ 71.6 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นข้าวเปลือกเฉลี่ยในกองข้าวทั้งสองแบบมีค่าเท่ากับ 12.3 และ 11.1 เปอร์เซ็นต์ โดยในกองข้าวทรงกรวยคว่ำ และทรงสี่เหลี่ยมมีค่าความชื้นลดลง 0.1 และ 1 เปอร์เซ็นต์จากวันเริ่มกอง สำหรับอิทธิพลของการกองและระยะเวลากองต่อคุณภาพการสี พบว่าคุณภาพการสีของข้าวเปลือกหลัง 15 วันของการกองทั้งสองแบบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากวันเริ่มกอง คือ เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวของกองแบบกรวยคว่ำเพิ่มขึ้น จาก 30.1 เป็น 35.8 และในกองทรงสี่เหลี่ยมเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวเพิ่มจาก 29.5 เป็น 32.0 นอกจากนั้นพบว่าระยะเวลาและรูปแบบการกองทั้งสองวิธีไม่ทำให้เกิดข้าวเหลือง และไม่มี การทำลายของเชื้อราระหว่างการกอง เนื่องจากความชื้นข้าวเปลือกในกองค่อนข้างต่ำและอุณหภูมิภายในกองไม่สูงมาก นัก ดังนั้นการกองข้าวเพื่อรอการนวดทั้งสองแบบให้ผลต่อคุณภาพข้าวสารไม่ต่างกัน มากนักเนื่องจากสภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเดือนธันวาคมมีอุณหภูมิ และความชื้นสัมพัทธ์ค่อนข้างต่ำ