บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินคุณภาพที่มีความสัมพันธ์กับระยะการแก่และฤดูกาลปลูกของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียในภาคเหนือของไทย

อดิศักดิ์ จูมวงษ์

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ชีววิทยา)คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 115 หน้า. 2548.

2548

บทคัดย่อ

การประเมินคุณภาพที่มีความสัมพันธ์กับระยะการแก่และฤดูกาลปลูกของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียในภาคเหนือของไทย

การปลูกและเก็บเกี่ยวผลสับปะรดในภาคเหนือของไทยมีสามฤดูต่อปี ได้แก่ สับปะรดต้นปีซึ่งเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-เมษายน)สับปะรดกลางปีซึ่งเก็บเกี่ยวในฤดูฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม)และสับปะรดปลายปีซึ่งเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม)ปัจจัยสิ่งแวดล้อมของฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงอาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลสับปะรด ดังนั้น การวิจัยนี้จึงได้ศึกษาความสัมพันธ์ของคุณภาพสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียกับระยะการแก่และสุก และฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยเก็บเกี่ยวสับปะรดในแต่ละฤดูที่ระยะ 110-160 วันหลังดอกบาน ทำการประเมินคุณภาพโดยศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปร่างและขนาดของผล สมบัติทางกายภาพและส่วนประกอบทางเคมี ระยะการสุกของผล และคุณภาพการบริโภค ผลการศึกษารูปร่างและขนาดของผลสับปะรด พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างฤดูกาลเก็บเกี่ยวทั้งสามฤดู ผลสับปะรดต้นปีที่เก็บเกี่ยวในฤดูร้อนมีน้ำหนักมาก ผลส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยและมีจุกขนาดเล็กอัดกันแน่น  ส่วนผลสับปะรดกลางปีที่เก็บเกี่ยวในฤดูฝนและปลายปีที่เก็บเกี่ยวในฤดูหนาว ผลมีน้ำหนักปานกลางถึงน้อย ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกและกลม และมีจุกขนาดใหญ่  เมื่อทำการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักผลกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมโดยใช้สมการการถดถอยหลายทาง พบว่าปัจจัยของสิ่งแวดล้อมในแต่ละฤดูกาลที่มีความสัมพันธ์สูงสุดกับการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักผล คือ อุณหภูมิเฉลี่ยของช่วงกลางวันและช่วงกลางคืน และปริมาณแสง โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ (R2) = 0.411, 0.416 และ 0.416 ตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพและส่วนประกอบทางเคมีของผลสับปะรด โดยการวัดสีเปลือก สีเนื้อ ปริมาณคลอโรฟิลล์และแคโรทีนอยด์ในเปลือก ปริมาณแคโรทีนอยด์ในเนื้อผล ความแน่นเนื้อของผล และร้อยละของผลที่มีเนื้อฉ่ำ ปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำ ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ อัตราส่วนของปริมาณน้ำตาลต่อกรด ค่าพีเอช เส้นใยและปริมาณน้ำในผล พบว่า ผลที่เก็บเกี่ยวในฤดูหนาวเมื่อมีอายุ 120 วันหลังดอกบานร้อยละแปดสิบห้าของจำนวนผล เปลือกผลมีสีเหลืองมากกว่าร้อยละห้าสิบของพื้นที่เปลือกทั้งผล ในขณะที่ผลสับปะรดที่เก็บเกี่ยวในฤดูร้อนและฝน เปลือกผลยังคงมีสีเขียวอยู่ร้อยละเจ็ดสิบห้าถึงแปดสิบของจำนวนผล ปริมาณของคลอโรฟิลล์ในเปลือกลดลงในระหว่างช่วงเก็บเกี่ยว ส่วนปริมาณของแคโรทีนอยด์ในเปลือกของผลเพิ่มขึ้นและไม่เพิ่มขึ้นอีกภายหลัง เก็บเกี่ยว ผลที่เก็บเกี่ยวในฤดูหนาวมีปริมาณของแคโรทีนอยด์ในเปลือกมากกว่าในฤดูอื่นๆ ส่วนปริมาณแคโรทีนอยด์ในเนื้อผลที่เก็บเกี่ยวในแต่ละฤดูกาลไม่มีความแตกต่าง กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ในผลสับปะรดที่เก็บเกี่ยวในฤดูฝนมีสีเนื้อเหลืองกว่าในฤดูอื่นๆ โดยมีค่า L* และค่า b* มากกว่าผลสับปะรดในฤดูอื่นๆ  ค่าความแน่นเนื้อที่ตำแหน่งด้านนอกของส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่างของผลสับปะรด ที่เก็บเกี่ยวในฤดูหนาวมีค่าต่ำกว่าในฤดูอื่นๆ แสดงว่าผลสับปะรดมีการสุกเกิดขึ้นได้เร็วกว่าฤดูอื่น ค่าความแน่นเนื้อที่ตำแหน่งกลางของทุกส่วนของผลสับปะรดมีค่าแปรผันต่ำที่สุด ในทุกฤดูที่เก็บเกี่ยว ผลสับปะรดที่มีเนื้อฉ่ำพบได้ที่ระยะ 120วันหลังดอกบานในทุกฤดูกาลของการผลิต และหลังจากระยะ 140วันหลังดอกบานจำนวนของผลที่มีเนื้อฉ่ำไม่เพิ่มขึ้น ร้อยละของผลที่มีเนื้อฉ่ำในทุกฤดูมีค่าไม่ต่างกันและมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง ร้อยละสิบถึงร้อยละยี่สิบ การเปลี่ยนแปลงสมบัติทางเคมีของผลสับปะรด พบว่าปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำและอัตราส่วนของปริมาณน้ำตาลต่อกรดในทุกฤดู เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระยะ 120-130วัน แสดงว่าผลสับปะรดสุกที่ระยะ 120วัน และมีสัดส่วนของน้ำตาลซูโครสเพิ่มขึ้น 5.5 เท่าของน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคส แสดงว่าผลสับปะรดมีระยะการแก่และสุกบริบูรณ์ โดยมีช่วงของการเก็บเกี่ยวประมาณ 20 วัน จนถึงระยะ 140วัน หลังจากนี้ค่าความแน่นเนื้อของผลในทุกฤดูที่เก็บเกี่ยวลดลง ปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำและปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ของผลสับปะรดที่เก็บในฤดูหนาวมีค่าสูงกว่าฤดูอื่นๆ และแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลสับปะรดที่เก็บเกี่ยวในทุกฤดูมีปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำได้มากกว่าร้อยละ 12  และอัตราส่วนของปริมาณน้ำตาลต่อกรดมีค่าสูงกว่า 22  ดังนั้น ผลสับปะรดที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีคุณภาพเหมาะสมต่อการบริโภคได้ตลอดทั้งปี ปริมาณเส้นใยและน้ำในผลไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุกระยะการแก่และสุกและฤดูที่เก็บเกี่ยว