บทคัดย่องานวิจัย

ผลของน้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านต่อด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculatus Fabricius)

นที ชาวนา

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(กีฏวิทยา) คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 90 หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

ผลของน้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านต่อด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculatus Fabricius)

ด้วงถั่วเขียว Callosobruchus maculatus Fabricius เป็นแมลงศัตรูโรงเก็บที่ทำลายเมล็ดถั่วทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดถั่วเขียว จึงเป็นสาเหตุให้มีการใช้สารฆ่าแมลงสังเคราะห์เป็นอย่างมาก การศึกษาผลของน้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้าน ได้แก่ ผักชีลาว Anethum graveolens Linn. ผักแพว Polygonum odoratum Lour. ผักแขยง Limnophila aromatica (Lamk.) Merr. ชะพลู Piper sarmentosum Roxb. ex Hunter และน้ำมันสะเดา Azadirachta siamensis A. Juss. โดยประเมิน ความเป็นพิษลักษณะสัมผัสตาย ความเป็นพิษลักษณะสารรม ผลต่อการวางไข่และการฟักเป็นตัวเต็มวัยของด้วงถั่วเขียว การศึกษาดำเนินการในห้องปฏิบัติการซึ่งควบคุมอุณหภูมิที่25 + 2 องศาเซลเซียส และให้แสงสว่าง 12 ชั่วโมงต่อวัน ตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของผักพื้นบ้านด้วยเครื่อง GC-MS และทำการทดลองเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน 4 ชนิด ได้แก่ limonene, a-phellandrene, trans-caryophyllene และ b-pinene  โดยทำการทดลองระหว่างเดือนพฤษภาคม 2545 ถึงเดือนตุลาคม 2547 โดยแบ่งเป็น 3 การทดลอง

การทดลองที่ 1 ศึกษาพิษสัมผัสตายของด้วงถั่วเขียว เมื่อได้รับน้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านและน้ำมันสะเดาระดับความเข้มข้นต่างกันที่เวลา 48 ชั่วโมง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ค่า median lethal concentration (LC50) โดยวิธี probit analysis ใช้โปรแกรม QUANTALEXE จากการทดสอบด้วยวิธี residual film test พบว่า น้ำมันระเหยง่ายจากผักชีลาวมีฤทธิ์ฆ่าด้วงถั่วเขียวสูงสุด รองลงมาได้แก่ น้ำมันระเหยง่ายจากชะพลู ผักแพว และผักแขยง โดยมีค่า LC50 เท่ากับ 0.300, 0.886, 1.853 และ 1.872 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และมีประสิทธิภาพสูงกว่าน้ำมันสะเดา ซึ่งมีค่า LC50 เท่ากับ 2.065 เปอร์เซ็นต์ จากการทดสอบด้วยวิธี impregnated filter paper test พบว่า น้ำมันระเหยง่ายจากผักชีลาวมีฤทธิ์ฆ่าด้วงถั่วเขียวสูงสุด รองลงมาคือ น้ำมันระเหยง่ายจากชะพลูและผักแขยง มีค่า LC50 เท่ากับ 0.948, 1.052 และ 1.080 เปอร์เซ็นต์  ตามลำดับ  ขณะที่น้ำมันระเหยง่ายจากผักแพวและน้ำมันสะเดามีประสิทธิภาพฆ่าด้วงถั่วเขียวต่ำสุด (LC50 > 4.0 เปอร์เซ็นต์)

จากการทดสอบสารมาตรฐาน พบว่า สาร trans-caryophyllene ออกฤทธิ์สัมผัสตายต่อด้วงถั่วเขียวต่ำ  มีค่า LC50 เท่ากับ 3.562 เปอร์เซ็นต์  ขณะที่สาร limonene, a-phellandrene และ b-pinene ไม่แสดงฤทธิ์ในลักษณะสัมผัสตายต่อแมลงที่ศึกษา

การทดลองที่ 2 ศึกษาพิษในลักษณะสารรม พบว่า น้ำมันระเหยง่ายจากชะพลูมีประสิทธิภาพเป็นสารรมดีที่สุด  น้ำมันระเหยง่ายจากผักแขยงและผักชีลาว มีประสิทธิภาพรองลงมา มีค่า LC50 เท่ากับ 0.190, 0.290 และ 0.410  ไมโครลิตรต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ในเวลา 12 ชั่วโมง   ขณะที่น้ำมันระเหยง่ายจากผักแพวและน้ำมันสะเดามีประสิทธิภาพต่ำสุด แสดงค่า LC50 > 1.786 ไมโครลิตรต่อมิลลิลิตร

จากการทดสอบสารมาตรฐาน พบว่า สาร limonene, a-phellandrene และ b-pinene แสดงคุณสมบัติเป็นสารรมต่อด้วงถั่วเขียวได้ดี  มีค่า LC50 เท่ากับ 0.231, 0.141 และ 0.419 ไมโครลิตรต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ในเวลา 6 ชั่วโมง ขณะที่สาร trans-caryophyllene ไม่แสดงคุณสมบัติเป็นสารรม

การทดลองที่ 3 ศึกษาผลต่อการวางไข่และการฟักเป็นตัวเต็มวัยของด้วงถั่วเขียว พบว่า น้ำมันระเหยง่ายจากผักชีลาว ผักแพว ชะพลู และน้ำมันสะเดา มีประสิทธิภาพยับยั้งการวางไข่ของด้วงถั่วเขียวได้อย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีผลยับยั้งการฟักเป็นตัวเต็มวัยของด้วงถั่วเขียว ขณะที่น้ำมันระเหยง่ายจากผักแขยงไม่มีประสิทธิภาพยับยั้งการวางไข่และการฟัก เป็นตัวเต็มวัยของด้วงถั่วเขียว

ผลการศึกษาข้างต้นจึงแสดงถึงศักยภาพของการใช้น้ำมันระเหยง่ายจากผักพื้นบ้านเพื่อประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืช