บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาตารางชีวิต (life table) และลักษณะการทำลายของด้วงงวงข้าว Sitophilus oryzae (L.)

บานชื่น เก่งมนตรี

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(กีฏวิทยา) คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 50หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

การศึกษาตารางชีวิต (life table) และลักษณะการทำลายของด้วงงวงข้าว Sitophilus oryzae (L.)

ด้วงงวงข้าวSitophilus oryzae (L.) เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งของธัญพืชที่เก็บไว้บริโภคและรอการจำหน่าย เมื่อมีการระบาดรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายได้อย่างมาก  การศึกษาตารางชีวิตในห้องปฏิบัติการและการทำลายของด้วงงวงข้าวในโรงสีข้าวเพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจป้องกันกำจัด ผลการศึกษาตารางชีวิตของด้วงงวงข้าว  ณ  อุณหภูมิ  3  ระดับ  คือ  20 °,  25 °  และ  30  °ซ  โดยเริ่มต้นใช้ไข่จำนวน  2,250  ฟอง  ด้วงงวงพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยได้  1,878,  2,032  และ  2,074  ตัว  จำนวนหนอนที่ตายอยู่ในช่วง  35 – 61,  20 – 37  และ  16 – 38  ตัว  มีวงจรชีวิต 54,  49  และ  41  วัน  ตัวเมียวางไข่เฉลี่ยได้  411,  572  และ  413  ฟอง  โดยมีอัตราการวางไข่เฉลี่ยต่อวัน  3.05,  3.25  และ  3.30  ฟอง  ตามลำดับ  ค่า net reproductive rate (Ro)ของอุณหภูมิ  20 °,  25 °  และ  30  °ซ  เท่ากับ  26.629,  32.748  และ  23.140  และค่า intrinsic rate of natural increase (r)  เท่ากับ  0.052,  0.058  และ  0.059  ค่าเฉลี่ยชั่วอายุขัยของกลุ่มเท่ากับ 59.23,   62.22 และ  52.43 วัน  ค่าอัตราการเพิ่มที่แท้จริงเท่ากับ 1.053,  1.059 และ  1.061 ตามลำดับ

ผลการสุ่มตัวอย่างข้าวสารและข้าวเปลือกโดยหลาวในโรงสี  3  แห่ง  ได้แก่  โรงสีทวีภัณฑ์  โรงสีแหลมทอง  และโรงสีชุมนุมสหกรณ์การเกษตร  อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  ตั้งแต่เดือนตุลาคม  2545  -  กันยายน  2546  ความเสียหายของข้าวสารจากด้วงงวงในโรงสีทวีภัณฑ์พบว่าในเดือนพฤศจิกายน  มกราคม  เมษายน  และ พฤษภาคม  จำนวน  1,  2,  1  และ  2  เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ  โรงสีแหลมทองพบข้าวสารถูกทำลายในเดือนกุมภาพันธ์  มีนาคม  เมษายน  และ  พฤษภาคม  1  เปอร์เซ็นต์ทั้ง  4  เดือน  ส่วนโรงสีชุมนุมสหกรณ์การเกษตรไม่พบข้าวสารถูกทำลาย  สำหรับเมล็ดข้าวเปลือกโรงสีทวีภัณฑ์พบเมล็ดเสียหายในเดือนเมษายน  3 เปอร์เซ็นต์ และ 1 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคม และสิงหาคม โรงสีแหลมทองพบความเสียหาย  1  เปอร์เซ็นต์มีเพียง  2  เดือนคือเดือนพฤษภาคมและกันยายน  2546  และโรงสีชุมนุม สหกรณ์การเกษตรถูกทำลายมากที่สุดคือ  6  เปอร์เซ็นต์  ในเดือนพฤศจิกายน  2545  รองลงมา 4  เปอร์เซ็นต์  ในเดือนมิถุนายน  2546 จากผลการวิเคราะห์พบว่าเมล็ดข้าวเปลือกเสียหายมากกว่าเมล็ดข้าวสารอย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.05) เนื่องจากแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ  การบันทึกประชากรด้วงงวงข้าวในข้าวสารพบว่าประชากรด้วงงวงข้าวสูงสุดที่โรงสีทวีภัณฑ์  แหลมทอง  และชุมนุม สหกรณ์การเกษตร  เท่ากับ  316.0  ตัว  ในเดือนกันยายน  2546  จำนวน  84.5  ตัว  ในเดือนสิงหาคม  2545  และ  212.7  ตัว  ในเดือนสิงหาคม  2545  ประชากรด้วงงวงข้าวต่ำสุด  ในเดือนตุลาคม  2545  แต่ละโรงสีเท่ากับ  12.2,   3.0  ตัว  และ  3.5  ตัว  ตามลำดับ  ในข้าวเปลือกประชากรด้วงงวงข้าวสูงสุดที่โรงสีทวีภัณฑ์  แหลมทอง  และชุมนุมสหกรณ์การเกษตร  เท่ากับ  29.5  ตัว  ในเดือนธันวาคม  2545  จำนวน  10.7  ตัว  ในเดือนมีนาคม  2546  และ  19.5  ตัว  ในเดือนกันยายน  2545  ประชากรด้วงงวงข้าวต่ำสุดเท่ากับ  6.0  ตัว  ในเดือนมีนาคม  2546  จำนวน  2.7  ตัว  ในเดือนมีนาคม และมิถุนายน  2546  และ  5.0  ตัว  ในเดือนกรกฎาคม  2546  ตามลำดับ

โลจิสติกโมเดลถูกนำมาใช้พยากรณ์การเปลี่ยนแปลงประชากรของด้วงงวงข้าว  โดยใช้ค่า rจากตารางชีวิตที่อุณหภูมิ 30 °ซ  ผลการวิเคราะห์พบว่าการเพิ่มประชากรของด้วงงวงข้าวในข้าวสารที่โรงสีทวีภัณฑ์เป็นไปอย่างช้า ๆ ในระยะแรกแล้วเพิ่มถึงความหนาแน่นมากที่สุดเท่ากับ  100  ตัว  ในเดือนมีนาคม  2546  มีอัตราการเพิ่มประชากรเท่ากับ  1.07  ส่วนในโรงสีแหลมทองและโรงสีชุมนุมสหกรณ์การเกษตรการเพิ่มประชากรสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกัน  ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2545 มีความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ  39  และ  93  ตัว  อัตราการเพิ่มประชากรเท่ากับ  10.91  และ  13.76 ค่า  Chi-square  ระหว่างตัวเลขการสำรวจประชากรกับแบบจำลอง  พบว่ามีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะประชากรในโรงสีทวีภัณฑ์เท่านั้น