บทคัดย่องานวิจัย

การพัฒนาดัชนีชี้วัดสมรรถนะกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสีข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกในจังหวัดร้อยเอ็ด

วรการ บัวนวล

บริหารธุรกิจมหาบัณฑิตวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น. 180 หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

การพัฒนาดัชนีชี้วัดสมรรถนะกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสีข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออกในจังหวัดร้อยเอ็ด

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาการดำเนินงานตามกระบวนการโลจิสติกส์ (Logistics)ของโรงสีข้าว เพื่อการส่งออก ในธุรกิจการค้าข้าวหอมมะลิ (2) ศึกษาปัญหาการดำเนินงานใน 4กิจกรรมหลักได้แก่ การจัดซื้อ (Purchasing) การจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) การขนส่งและจัดส่งสินค้า (Transportation and delivery) การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล (Communication and Data Exchange) ของกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสี (3) พัฒนาดัชนีชี้วัด (KPIs) ที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ประเมินการทำงานตามกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสี โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นโรงสีข้าวหอมมะลิขนาดกลางและใหญ่ ในจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Selection)โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่มตัวอย่าง กลุ่มที่ 1 เป็นโรงสีข้าวหอมมะลิขนาดกลางหรือใหญ่ ที่มีการจัดการเป็นระบบ จำนวน 2 โรงในจังหวัดร้อยเอ็ด ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยแบบสัมภาษณ์ กลุ่มที่ 2 เป็นโรงสีหอมมะลิขนาดกลางหรือใหญ่ ที่มีการจัดการเป็นระบบและไม่เป็นระบบ จำนวน 10 โรง และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรงสี จำนวน 10 คน ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยแบบสอบถาม (Likert Scale) สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS version 11.5การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ วิเคราะห์แบบพรรณนา (Descriptive Analysis)

ผลของการวิจัย แสดงให้เห็นสภาพปัจจุบันในการดำเนินงานตามกระบวนการโลจิสติกส์ของโรงสีข้าวเพื่อการส่งออก ในจังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนั้นทำให้ทราบปัญหาการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมหลัก และผลการวิจัยสามารถพัฒนาดัชนีชี้วัดที่เหมาะสมได้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มดัชนี กลุ่มแรก ดัชนีชี้วัดจากการสอบถามระดับความต้องการนำดัชนีชี้วัดการดำเนินงานใน 4 กิจกรรมไปใช้ ของผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญโรงสีข้าว โดยได้ดัชนีชี้วัดแบ่งตามกิจกรรมดังนี้ การจัดซื้อ 9 ดัชนี การจัดการคลังสินค้า 12 ดัชนี การขนส่งและจัดส่งสินค้า 5 ดัชนี การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล 6 ดัชนี และกลุ่มที่สอง ดัชนีชี้วัดจากการแปลงปัญหา โดยได้ดัชนีชี้วัดแบ่งตามกิจกรรมดังนี้ การจัดซื้อ 6 ดัชนี การจัดการคลังสินค้า 12 ดัชนี การขนส่งและจัดส่งสินค้า 4 ดัชนี การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล 4 ดัชนี ผลการศึกษาทำให้ได้ดัชนีชี้วัดจากการสังเคราะห์ทั้ง 2 กลุ่มดัชนี รวมทั้งสิ้น 40 ดัชนี เมื่อนำดัชนีชี้วัดไปสอบถามผู้ใช้งานจริง ได้ข้อมูลดัชนีชี้วัด ร้อยละ 71.43 เมื่อเปรียบเทียบดัชนีที่ได้จากธุรกิจโรงสีข้าว และอุตสาหกรรมอื่น พบว่ามีลักษณะดัชนีชี้วัดและจำนวนดัชนีชี้วัดที่แตกต่างกัน ตามประเภทอุตสาหกรรม และกระบวนการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้น อย่างไรก็ตามมีดัชนีชี้วัดหลักในดำเนินการกระบวนการโลจิสติกส์ที่คล้ายกัน