บทคัดย่องานวิจัย

บทบาทของอุณหภูมิและเอทิฟอนต่อการสุกและการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในเปลือกกล้วยหอมทองและกล้วยหอมแกรนด์เนน

สุจริต ส่วนไพโรจน์

วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต(พืชสวน) คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 136 หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

บทบาทของอุณหภูมิและเอทิฟอนต่อการสุกและการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในเปลือกกล้วยหอมทองและกล้วยหอมแกรนด์เนน

การศึกษาบทบาทของอุณหภูมิและเอทิฟอนต่อการสุกของผลกล้วยหอมทอง ( MusaAAA group Gros Michel subgroup ‘Hom Thong’) และกล้วยหอมแกรนด์เนน ( Musa AAAgroup Cavendish subgroup ‘Grand Nain’) ที่ได้รับและไม่ได้รับเอทิฟอนและ 1-MCP และวางไว้ที่อุณหภูมิ 20, 25ซ. และ อุณหภูมิห้อง (29-30ซ.) พบ ว่า อุณหภูมิมีผลต่อการสลายตัวของคลอโรฟิลล์และกิจกรรมของคลอโรฟิลเลส ตลอดจนการสร้างและการตอบสนองต่อเอทิลีนในรูปของเอทิฟอน โดยเอทิฟอนเร่งการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ เอ และ บี ในทุกระดับอุณหภูมิและลดอัตราส่วนของคลอโรฟิลล์ เอ ต่อ บี ในระยะก่อนผลสุก ยกเว้น กล้วยหอมแกรนด์เนนที่ได้รับและไม่ได้รับเอทิฟอนที่บ่มที่อุณหภูมิห้อง แต่ไม่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณแคโรทีนอยด์ในเปลือกกล้วยหอมแกรนด์เนน เอทิฟอนเร่งการเปลี่ยนสี การสุกและการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ของผลกล้วยทั้งสองพันธุ์ ในขณะที่ 1-MCP ชะลอการสลายตัวของคลอโรฟิลล์ ที่อุณหภูมิ 20-25ซ. กิจกรรม ของคลอโรฟิลเลสในเปลือกกล้วยหอมทองสูงกว่ากล้วยหอมแกรนด์เนน การสลายตัวของคลอโรฟิลล์ในเปลือกกล้วยหอมทองเร็วกว่าในกล้วยหอมแกรนด์เนน เอทิฟอนมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการเพิ่มกิจกรรมของคลอโรฟิลเลสในเปลือกกล้วย ทั้งสองพันธุ์ ปริมาณของ1-aminocyclopropane-1-carboxylic acid (ACC) และกิจกรรม ACC synthase (ACS) ในเปลือกผลกล้วยมีมากกว่าเนื้อผล แต่กิจกรรมของ ACC oxidase (ACO) ในเนื้อผลกล้วยมีมากกว่าในเปลือกผลกล้วยทั้งสองพันธุ์ ขณะที่กิจกรรมของ ACS และ ACO ในเนื้อและเปลือกของผลกล้วยหอมแกรนด์เนนมีกิจกรรมมากกว่าของผลกล้วยหอมทอง แต่ปริมาณ ACC ของเนื้อและเปลือกผลของกล้วยหอมทองมีมากกว่ากล้วยหอมแกรนด์เนน เอทิฟอนกระตุ้นกิจกรรมของ ACS ACO และปริมาณ ACC ในเนื้อและเปลือกของกล้วยทั้งสองพันธุ์ ในขณะที่ 1-MCP ลดและชะลอกิจกรรมของ ACS ACO และปริมาณ ACC ในเนื้อและเปลือกของกล้วยทั้งสองพันธุ์