บทคัดย่องานวิจัย

ชีววิทยาและการก่อให้เกิดโรคของAlternaria brassicicolaสาเหตุโรคใบจุดของผักกาดกวางตุ้งและการกระตุ้นเพื่อให้ต้านทานต่อโรคก่อนการเก็บเกี่ยว

เทอดพันธ์ ธรรมรัตนพงษ์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(เกษตรศาสตร)คณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.119 หน้า. 2548.

2548

บทคัดย่อ

ชีววิทยาและการก่อให้เกิดโรคของAlternaria brassicicolaสาเหตุโรคใบจุดของผักกาดกวางตุ้งและการกระตุ้นเพื่อให้ต้านทานต่อโรคก่อนการเก็บเกี่ยว

เชื้อรา 15 สายพันธุ์ที่แยกได้จากส่วนต่างๆ ของผักกาดกวางตุ้ง พบเชื้อรา 3 ชนิด คือ เชื้อรา Alternaria brassicicola เชื้อรา A. brassicae และเชื้อรา Curvularia sp. โดยเชื้อรา A. brassicicolaสายพันธุ์ที่แยกได้จาก ต.กำแพงแสน จ.นครปฐม สามารถก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคใบจุดได้ต่ำสุดเท่ากับ 10 เปอร์เซ็นต์ และสูงสุดเท่ากับ 64 เปอร์เซ็นต์ ในผักกาดกวางตุ้งฮ่องกง (พันธุ์ต้านทาน) และฮ่องเต้ (พันธุ์อ่อนแอ ตามลำดับ การฉีดพ่นเชื้อรา Curvularia sp.และสารละลาย Bion ความเข้มข้น 0.05 กรัมต่อลิตรก่อนปลูกเชื้อรา A. brassicicolaสามารถป้องกันโรคใบจุดในผักกาดกวางตุ้งฮ่องกงและฮ่องเต้ได้ โดยการฉีดพ่นเชื้อรา Curvularia sp.พบลักษณะของปากใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทำให้ลดการเข้าทำลายผ่านทางช่องปากใบของเชื้อรา A. brassicicolaได้เท่ากับ 1.77 และ 0.96 เปอร์เซ็นต์และการฉีดพ่นด้วย Bion ความเข้มข้น 0.05 กรัมต่อลิตร พบเซลล์ผิวใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลช่วยลดการเข้าทำลายของเชื้อรา A. brassicicolaผ่านเซลล์ผิวใบลงเท่ากับ 1.55 และ 0.79 เปอร์เซ็นต์ และลดการสร้าง appressoria ลงเท่ากับ 1.24 และ 0.69 เปอร์เซ็นต์ ในผักกาดกวางตุ้งฮ่องกงและฮ่องเต้ ตามลำดับที่เวลา 24 ชั่วโมง นอกจากนี้การฉีดพ่นเชื้อรา Curvularia sp.และ Bion ความเข้มข้น 0.05 กรัมต่อลิตร ก่อนปลูกเชื้อรา A. brassicicolaสามารถลดความรุนแรงของโรคในวันที่ 25 ลงได้ 20 และ 30 เปอร์เซ็นต์ ในผักกาดกวางตุ้งฮ่องกง และ 65 และ 90 เปอร์เซ็นต์ ในผักกาดกวางตุ้งฮ่องเต้ ตามลำดับ ในผักกาดกวางตุ้งอายุ 7 วัน และ 15 และ 30 เปอร์เซ็นต์ ในผักกาดกวางตุ้งฮ่องกง และ 65 และ 90 เปอร์เซ็นต์ในผักกาดกวางตุ้งฮ่องเต้ ตามลำดับ ในผักกาดกวางตุ้งอายุ 30 วัน

การฉีดพ่นเชื้อรา Curvularia sp.และ Bion ความเข้มข้น 0.05 กรัมต่อลิตร พบกิจกรรมเอนไซม์ PPO และ POX เพิ่มสูงสุดในวันที่ 5 ในผักกาดกวางตุ้งพันธุ์อ่อนแอมากกว่าพันธุ์ต้านทาน ภายหลังปลูกเชื้อสาเหตุโรคใบจุด โดยการฉีดพ่นเชื้อราCurvularia sp.ก่อนการปลูกเชื้อรา A. brassicicolaพบกิจกรรมของเอนไซม์ PPO เพิ่มสูงสุดเท่ากับ 41.75 และ 53.77 หน่วยต่อมิลลิกรัมโปรตีนในผักกาดกวางตุ้งอายุ 7 วัน และ 28.14 และ 46.79 หน่วยต่อมิลลิกรัมโปรตีนในผักกาดกวางตุ้งอายุ 30 วัน และพบกิจกรรมเอนไซม์ POX เพิ่มสูงสุดเท่ากับ 20.88 และ 31.15 หน่วยมิลลิกรัมโปรตีนต่อนาที ในผักกาดกวางตุ้งอายุ 7 วัน และ 16.81 และ 25.01 หน่วยต่อมิลลิกรัมโปรตีนต่อนาที ในผักกาดกวางตุ้งอายุ 30 วัน และการฉีดพ่น Bion ก่อนปลูกเชื้อรา A. brassicicola พบกิจกรรมเอนไซม์ PPO เพิ่มสูงสุดเท่ากับ 57.27 และ 68.59 หน่วยต่อมิลลิกรัมโปรตีน ในผักกาดกวางตุ้งอายุ 7 วัน และ 34 และ 69.96 หน่วยต่อมิลลิกรัมโปรตีนในผักกาดกวางตุ้งอายุ 30 วัน และพบกิจกรรมเอนไซม์ POX เพิ่มสูงสุดเท่ากับ 27.96 และ 42.91 หน่วยต่อมิลลิกรัมโปรตีนต่อนาที ในผักกาดกวางตุ้งอายุ 7 วัน และ 21.52 และ 51.13 หน่วยต่อมิลลิกรัมโปรตีนต่อนาที ในผักกาดกวางตุ้งอายุ 30 วัน ในผักกาดกวางตุ้งฮ่องกงและฮ่องเต้ ตามลำดับ และหลังจาก 5 วัน กิจกรรมเอนไซม์ PPO และ POX จะค่อย ๆ ลดลง