บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคระหว่างการพัฒนาของผลทุเรียนพันธุ์กระดุมและหมอนทอง

อรอนงค์ โคกสูงเนิน

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.117 หน้า.2548.

2548

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคระหว่างการพัฒนาของผลทุเรียนพันธุ์กระดุมและหมอนทอง

การศึกษาลักษณะทางกายภาพและกาย วิภาคระหว่างการเจริญเติบโตของผลทุเรียนพันธุ์กระดุมและหมอนทอง ตั้งแต่เริ่มติดผลจนกระทั่งผลมีความบริบูรณ์ พบว่าส่วนแกนและเปลือกของพันธุ์กระดุมหยุดแบ่งเซลล์และหยุดขยายขนาดของเซลล์ ก่อนพันธุ์หมอนทองประมาณ 2 สัปดาห์ และส่วนเนื้อของพันธุ์กระดุมหยุดแบ่งเซลล์และหยุดขยายขนาดของเซลล์ก่อน พันธุ์หมอนทองประมาณ 4 และ 6 สัปดาห์ ตามลำดับ เมื่อเซลล์ในส่วนแกน เปลือกและเนื้อหยุดขยายขนาดเป็นช่วงเวลาที่ผลทุเรียนทั้งสองพันธุ์มีความหนา ของแกน เปลือกและเนื้อ ขนาดและน้ำหนักของผล ความหนาและความกว้างของเมล็ดคงที่ ส่วนเนื้อของพันธุ์กระดุมเริ่มสะสมเม็ดแป้งเมื่อผลอายุ 70 วัน ซึ่งเร็วกว่าพันธุ์หมอนทองประมาณ 2 สัปดาห์ และขณะที่เซลล์ในส่วนเนื้อมีการสะสมเม็ดแป้งตรงกับช่วงเวลาที่ส่วนเนื้อมี น้ำหนักแห้งเพิ่มขึ้น เมื่อผลมีความบริบูรณ์พบว่าส่วนแกนและเปลือกของทั้งสองพันธุ์มีจำนวนชั้น เซลล์และขนาดของเซลล์ไม่แตกต่างกันซึ่งสอดคล้องกับความหนาของแกนและเปลือก ในขณะที่พันธุ์หมอนทองมีจำนวนชั้นเซลล์ของส่วนเนื้อมากกว่าพันธุ์กระดุมและ สอดคล้องกับความหนาของเนื้อ แต่ขนาดของเซลล์ในส่วนเนื้อของทั้งสองพันธุ์ไม่แตกต่างกัน ในส่วนของการแตกของผลทุเรียนพบว่าพันธุ์กระดุมมีการพัฒนาของแนวสาแหรกเมื่อ ผลอายุ42 วัน ซึ่งเร็วกว่าพันธุ์หมอนทองประมาณ 2 สัปดาห์ แนวสาแหรกประกอบด้วยเซลล์พาเรนไคมาขนาดเล็กโดยเซลล์ที่อยู่บริเวณแนวสาแหรก ด้านนอกมีขนาดเล็กกว่าและมีการสะสมแทนนินมาก กว่าเซลล์ที่อยู่บริเวณแนวสาแหรกด้านในและเรียงตัวเป็นแถวประมาณ 3-4 แถว ผลเริ่มแตกเมื่อสีผิวผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง และเกิดการแตกบริเวณสาแหรกด้านในก่อนที่จะปรากฏให้เห็นการแตกของผลด้านนอก และเมื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาคบริเวณสาแหรกของทุเรียนทั้งสอง พันธุ์ พบว่าสาแหรกไม่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนชั้นเซลล์และขนาดของเซลล์ ทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวจนกระทั่งผลแตกและไม่พบการฉีกขาดของเซลล์ บริเวณแนวสาแหรก แสดงให้เห็นว่าการแตกของผลทุเรียนเกี่ยวข้องกับการย่อยสลายตัวของผนังเซลล์ บริเวณแนวสาแหรก