บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาอาการส้มแตกในส้มโชกุน (Citrus reticulate Blanco cv. Shogun)

ลักขนา วรโภคิน

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาพืชศาสตร์) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2548. 66หน้า

2548

บทคัดย่อ

การศึกษาอาการส้มแตกในส้มโชกุน (Citrus reticulate Blanco cv. Shogun)

การศึกษาอาการผลแตกในส้มโชกุน (Citrus reticulate Blanco cv. Shogun) ได้ทำการทดลอง ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ระหว่างเดือนมกราคม 2546ถึงเดือนธันวาคม 2547) โดยแบ่งเป็น 2การทดลองคือ การทดลองที่ 1ศึกษาการเจริญเติบโตในรอบปีของส้มโชกุนและความแปรปรวนของความชื้นดินที่สัมพันธ์กับการแตกของผล การทดลองที่ 2ศึกษาลักษณะทางกายวิภาคของผล และปริมาณธาตุอาหารที่สัมพันธ์กับการเกิดผลแตกในส้มโชกุน ในการทดลองที่ 1ทำการทดลองกับต้นส้มกิ่งตอนในกระถางอายุ 6ปี ภายใต้สภาพโรงเรือนหลังคาพลาสติก วัดการเจริญเติบโต การแตกยอด การออกดอกและติดผล พบว่า ส้มโชกุนมีการแตกยอดสูงสุดในเดือนตุลาคม (28.4 ยอด) มีการออกดอก 2ช่วงคือเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม โดยมีออกดอกติดผลสูงสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ (202ดอก และ 75ดอก) ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นในดินกับการเกิดผลแตกได้จัดสิ่งทดลองเป็น 3ชุด ดังนี้ 1) ควบคุม 2) ให้น้ำทุก 4วัน 3) ให้น้ำทุก 8วัน ทำการวัดค่าศักย์ของน้ำในใบ ค่าชักนำการเปิดปากใบ ปริมาณความชื้นในดินและเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ผลการทดลองพบว่าค่าพารามิเตอร์ต่างๆ มีค่าลดลงเมื่อระดับการขาดน้ำรุนแรงขึ้น และมีการหลุดร่วงของใบและผลในต้นที่ให้น้ำทุก 8วันและไม่พบการแตกของผลในทุกชุดการทดลอง การทดลองที่ 2ศึกษาเปรียบเทียบรูปร่างผลและโครงสร้างของผลอ่อนและเปลือกส้มโชกุนระหว่างผลแตกและผลปกติ โดยเก็บตัวอย่างผลอ่อน และผลส้มในระยะ 3  5และ 8เดือน จากสวนส้ม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ทำการตัดเนื้อเยื่อผลอ่อนและเปลือกผลและศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์แบบเลนส์ประกอบ พบอาการผลแตกในส้มโชกุนมี 3ลักษณะ คือแตกตามแนวยาว แนวขวาง และแนวเฉียง ส้มโชกุนผลแตกและผลปกติมีรูปร่างผลไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยมีรูปร่างกลมในระยะแรกของการเจริญเติบโตและเปลี่ยนเป็นรูปร่างแป้นเมื่อเข้าสู่ระยะสุกแก่ โครงสร้างผลอ่อนส้มโชกุนไม่มีช่องว่างที่บริเวณฐานของก้านชูเกสรตัวเมีย เมื่อเกิดการหลุดร่วงของก้าน๙เกสรตัวเมียจึงไม่มีช่องเปิดที่บริเวณก้นผล ซึ่งช่องเปิดนี้เป็นจุดเริ่มต้นการแตกของผลตามแนวยาว โครงสร้างของเปลือกผลส้มโชกุนผลปกติ ได้แก่ ความหนาเปลือก ความหนาของชั้นคิวติเคิล และความลึกของท่อลำเลียง มีค่ามากกว่าผลแตก จึงต้านทานการแตกของผลได้ดีกว่า ผลการวิเคราะห์หาปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม และ แมกนีเซียม พบว่า ปริมาณธาตุอาหารมีความเข้มข้นลดลงเมื่ออายุผลเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่มีความแตกต่างระหว่างผลแตกและผลปกติ ยกเว้นปริมาณไนโตรเจนในเปลือกผลแตกจะมีค่ามากกว่าผลปกติ เมื่อประเมินถึงคุณภาพผลผลิตพบว่าปริมาณความชื้นในเปลือกผลปกติมีค่ามากกว่าผลแตก ส่วนความชื้นในเนื้อผลและค่าความตึงผิวผลมีค่าน้อยกว่าผลแตก ส่วนปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้และเปอร์เซ็นต์กรด ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ