บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของไคโตซาน น้ำมันหอมระเหย และเชื้อราที่คัดเลือกจากเมล็ดข้าว เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อรา Fusarium moniliforme Sheldon และผลต่อคุณภาพข้าวขาวดอกมะลิ 105

สายชล โนชัย

วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2548. 110หน้า.

2548

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของไคโตซาน น้ำมันหอมระเหย และเชื้อราที่คัดเลือกจากเมล็ดข้าว เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อรา Fusarium moniliforme Sheldon และผลต่อคุณภาพข้าวขาวดอกมะลิ 105

ตรวจหาเชื้อรา Fusarium moniliformeสาเหตุโรคถอดฝักดาบ จากเมล็ดข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยวิธีเพาะบนกระดาษชื้น พบเชื้อรา F. moniliformeร้อยละ 3.50 และจากการทดสอบความสามารถในการทำให้เกิดโรค โดยการปลูกเชื้อ F. moniliformeลงบนเมล็ด พบว่าเชื้อรา F. moniliformeมีผลในการลดความงอกของเมล็ด แต่เปอร์เซ็นต์การติดเชื้อของเมล็ดสูงขึ้น โดยต้นกล้าจากการปลูกเชื้อที่เมล็ดแสดงอาการแคระแกร็น มีลำต้นที่ซีดขาว และอาจแห้งตายในระยะต่อมา

ผลการนำเชื้อราทดสอบ 10ชนิด ที่แยกได้จากเมล็ดข้าวไปทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา F. moniliformeโดยวิธี dual culture พบว่าเชื้อรา Trichoderma sp., Aspergillus niger และ unknown ให้เปอร์เซ็นต์การยับยั้งดีกว่าชนิดอื่นๆ ตามลำดับ เมื่อนำเชื้อราที่คัดเลือกแล้วไปทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเชื้อราF. moniliformeบนเมล็ดข้าว พบว่า Trichoderma sp. สามารถลดเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อของเมล็ด และช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด ความงอกในแปลง ความยาวลำต้น ความยาวราก น้ำหนักสด และน้ำหนักแห้งของต้นกล้าได้ดีที่สุด

ผลการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากพืช 5ชนิด ในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา F. moniliformeในการทดสอบบนอาหารเลี้ยงเชื้อ PDA ผสมน้ำมันหอมระเหย พบว่าน้ำมันจากกานพลู อบเชยและเจอราเนียมที่ความเข้มข้น 400, 500 และ 1,400 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยของเชื้อราสาเหตุได้ 100% และเมื่อนำน้ำมันหอมระเหยจากพืชทั้ง 3ชนิด ไปแช่เมล็ดเพื่อทดสอบประสิทธิภาพต่อความงอกของเมล็ดและการเจริญของต้นกล้า พบว่ามีเพียงน้ำมันกานพลูเท่านั้นที่ให้ผลดีที่สุด โดยให้ผลเช่นเดียวกับการทดสอบจากเชื้อรา Trichoderma sp.ดังกล่าว

                ผลการทดสอบประสิทธิภาพของไคโตซานในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราF. moniliformeโดยทดลองเลี้ยงบนอาหาร PDAผสมไคโตซาน พบว่าไคโตซานที่ความเข้มข้น 5,000 ppm สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยได้ 73.56% ผลการทดสอบประสิทธิภาพของไคโตซานต่อความงอกของเมล็ดและการเจริญของต้นกล้า พบว่าไคโตซานให้ผลดี โดยให้ผลเช่นเดียวกับการทดสอบจากเชื้อรา Trichoderma sp.และน้ำมันกานพลูที่ใช้แช่เมล็ดก่อนนำไปเพาะ

                จากการตรวจสอบความมีชีวิตของเมล็ดข้าวหลังจากแช่เมล็ดด้วยน้ำมันหอมระเหยจากพืช 3ชนิด และไคโตซานที่ความเข้มข้นที่ดีที่สุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราF. moniliforme ได้ พบว่าหลังเก็บเมล็ดไว้ 1เดือนความมีชีวิตของเมล็ดลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากทุกกรรมวิธี โดยกรรมวิธีที่ทำให้เมล็ดข้าวยังคงความมีชีวิตอยู่ได้สูงที่สุดหลังจากเก็บไว้ 1เดือนคือ กานพลู ที่ความเข้มข้น 400 ppm รองลงมาคือ chitosan ที่ความเข้มข้น 5,000 ppm